ตุตันคาเมน ยุวกษัตริย์ผู้ร่ำรวยแห่งอียิปต์โบราณ

การค้นพบ สุสานของฟาโรห์ตุตันคาเมน เมื่อปีค.ศ.1922(พ.ศ.2465) ณ หุบผากษัตริย์ (Valley of the Kings) อียิปต์

เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ค.ศ.1922(พ.ศ.2465) คณะสำรวจของ เฮาเวิร์ด คาร์เตอร์ (Howard Carter)ได้ค้นพบที่ไว้พระศพของฟาโรห์ตุตันคาเมน อยู่ใกล้กับทางเข้าสุสานของของฟาโรห์แรเมซีสที่ 6 (Ramesses VI) นับแต่นั้น อาณาบริเวณดังกล่าวจึงได้รับการขนานนามว่า “เควี 62” เมื่อพบสุสานทุตอังค์อามุนแล้ว คาร์เตอร์ก็รีบแจ้งลอร์ดคาร์นาร์วอน และวันที่ 26 พฤศจิกายน 1922 ลอร์ดคาร์นาร์วอนกับคาร์เตอร์ก็ได้เป็นสองบุคคลแรกที่เข้าไปในสุสานหลังกาลเวลาผ่านไปราว 3,000 ปี

คาร์เตอร์ใช้เวลาขุดสำรวจอย่างพิถีพิถันอยู่หลายสัปดาห์ กระทั่งวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1923 เขาได้เปิดห้องไว้พระศพชั้นใน และได้เห็นหีบพระศพเป็นบุคคลแรก เฮนรี วอลแลม มอร์ตัน (Henry Vollam Morton) นักข่าวคนเดียวที่ได้อยู่ในพื้นที่ จึงถ่ายทอดเหตุการณ์เหล่านี้สู่สาธารณชนต่อไป

ผังของสุสานฟาโรห์ตุตันคาเมน

บันได

บันไดมี 16 ขั้น ทอดลงจากพื้นขนาดย่อมที่ยกขึ้น นำไปสู่พระทวารบานที่ 1 ซึ่งใช้ปูนฉาบผนึกไว้ แต่พระทวารนี้เคยถูกขโมยทำลายลงมาแล้วอย่างน้อย 2 ครั้งในสมัยโบราณ

ฉนวน

เมื่อเข้าพระทวารบานที่ 1 มาแล้ว พบฉนวนเป็นทางยาวไปสู่พระทวารบานที่ 2 ซึ่งผนึกไว้เช่นกัน เมื่อเข้าพระทวารบานนี้ไปแล้วเป็นห้องห้องหนึ่งซึ่งคาร์เตอร์เรียก “ห้องเล็ก” เดิมทีใช้เก็บของเหลือและของใช้จากพระราชพิธีพระศพ แต่เมื่อถูกขโมยขึ้น จึงมีการย้ายข้าวของดังกล่าวไปไว้ที่สุสานหมายเลขเควี 54 เป็นเหตุให้ห้องเล็กนี้ร้างไป

ห้องเล็ก

ห้องเล็กเป็นห้องที่ไม่ได้รับการตกแต่งเลย และเมื่อค้นพบก็ปรากฏว่า อยู่ในสภาพ “จงใจให้ยุ่งเหยิง” ข้าวของภายในมีประมาณ 700 ชิ้น ในจำนวนนี้เป็นตั่งพระศพ 3 หลัง กับจานรูปทาวาเร็ต (Tawaret) เทวีช้างน้ำ รูปแฮทอร์ (Hathor) เทวีปศุสัตว์ และรูปสิงสาราสัตว์ ทรัพย์สินที่โดดเด่นที่สุดในห้องนี้ คือ ชิ้นส่วนราชรถซึ่งวางซ้อน ๆ กันไว้ เชื่อว่า เป็นราชรถศึก ราชรถสำหรับออกป่าล่าสัตว์ หรือราชรถสำหรับเข้ากระบวนแห่ ข้าวของส่วนใหญ่ในจำนวน 700 ชิ้นนี้ล้วนทำจากทอง

ห้องไว้พระศพ

ห้องไว้พระศพเป็นห้องเดียวในสุสานที่ได้รับการตกแต่งโดยเขียนจิตรกรรมฝาผนังเป็นเหตุการณ์ที่ไอ (Ay) อุปราช เป็นประธานในพิธีเบิกปากพระศพ แทนพระโอรส ถึงแม้ว่าไอจะสูงวัยกว่าทุตอังค์อามุนมาก ในห้องยังมีรูปนัต (Nut) เทพีท้องฟ้า อยู่บนผนังทางเหนือ มีรูปชั่วโมงแรกในนรกอยู่บนผนังทางตะวันตก มีคาถาจากคัมภีร์มรณะอยู่บนผนังตะวันออก และมีรูปเทพยดาต่าง ๆ เป็นเครื่องแทนทุตอังค์อามุนอยู่บนผนังทางใต้ เทพยดาเหล่านั้นที่ปรากฏมีอานูบิส (Anubis), ไอซิส (Isis) และฮาทอร์ ส่วนที่เหลือชำรุดทั้งสิ้น บนผนังทางเหนือมีรูปทุตอังค์อามุนทรงพระดำเนินสู่นรกภูมิพร้อมพระวิญญาณของพระองค์ โดยมีโอไซริส (Osiris) คอยรับเสด็จอยู่ด้วย

สมบัติบางอย่างในห้องนี้ปรากฏว่า แตกต่างจากธรรมเนียมในการแสดงภาพลักษณ์พระเจ้าแผ่นดินอย่างแจ้งชัด เช่น พระสุบรรณบัฏซึ่งปรกติควรจารึกพระนามพระเจ้าแผ่นดินกลับปรากฏรอยขูดขีดแก้ไข ราวกับว่า นำของพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ก่อนกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งก็ปรากฏบ่อยครั้ง แต่ทรัพย์สินอื่น ๆ นั้นยากจะอธิบาย เช่น หีบพระศพชั้นกลางและโถพระกุญชะทำเป็นรูปใบหน้าบุคคลซึ่งอายุมากกว่าทุตอังค์อามุน ทั้งมีใบหน้าตอบกว่าพระองค์ด้วย มีการเสนอทฤษฎีว่า ข้าวของดังกล่าวเดิมทีแล้วเตรียมไว้สำหรับสเมงค์คาเร (Smenkhkare) ผู้เสวยราชย์ก่อนทุตอังค์อามุน

ข้าวของ

ในห้องมีกุฏิไม้ปิดทองตั้งล้อมหีบพระศพไว้ 4 ชั้น กุฏิชั้นแรกสุดมีขนาด 5.08 x 3.28 x 2.75 เมตร และมีความหนา 32 มิลลิเมตร จึงเกือบเต็มห้องซึ่งมีขนาด 60 x 30 เซนติเมตร ภายนอกกุฏิดังกล่าวมีพาย 11 เล่มสำหรับ “เรือสุริยะ” (solar boat) และมีพานเครื่องหอม กับตะเกียงประดับรูปเทพฮาพี (Hapi)

กุฏิชั้นในสุดยาว 2.90 เมตร กว้าง 1.48 เมตร ที่ผนังวาดรูปกระบวนแห่พระศพ ที่เพดานวาดรูปเทพีนัตกางปีกโอบหีบพระศพไว้

สำหรับหีบพระศพนั้นทำจากหินแกรนิต ฝาหีบและมุมหีบสลักจากหินหลากสี น่าเชื่อว่า หีบนี้เดิมทีสลักไว้สำหรับบุคคลอื่น แต่ได้รับการปรับปรุงให้เป็นหีบพระศพทุตอังค์อามุน ส่วนเจ้าของเดิมจะเป็นผู้ใดนั้นไม่ปรากฏอีกที่แต่ละมุมของหีบนั้นทำเป็นรูปเทวดาต่าง ๆ คอยพิทักษ์พระศพไว้ คือ ไอซิส, เน็ปทิส (Nephthys), เซอร์เก็ต (Serket) และเนท (Neith)

ในหีบมีหีบย่อยอีกสามชั้น สองชั้นแรกทำจากไม้ปิดทอง ชั้นในสุดทำจากทองแท้หนัก 110.4 กิโลกรัม พระศพนั้นอยู่ในหีบทองคำดังกล่าว ตัวพระศพสวมหน้ากากทองคำ ทองพระกร และเครื่องสุกำอื่น ๆ หน้ากากนั้นทำจากทองฝังอัญมนีต่าง ๆ คือ เขี้ยวหนุมาน (quartz), หยกแดง (carnelian), ออบซีเดียน (obsidian), ลาพิสลาซูไล (lapis lazuli), เครื่องเคลือบ (faience) และแก้ว รวมน้ำหนัก 11 กิโลกรัม

พระคลัง

พระคลังอยู่ถัดจากห้องไว้พระศพ ทางเข้าไม่ได้ทำเครื่องปิดกั้นไว้ ภายในมีข้าวของมากกว่า 5,000 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นของใช้ในพระราชพิธีพระศพและศาสนกิจ ของชิ้นใหญ่ที่สุด 2 ชิ้น คือ หีบไว้โถพระกุญชะ กับรูปปั้นเทพอานูบิส ข้าวของอื่น ๆ ได้แก่ กุฏิจำนวนมากซึ่งใส่พระรูปปั้นปิดทองและรูปปั้นเทพยดาปิดทองเอาไว้ ตลอดจนเรือจำลอง และราชรถอีก 2 หลัง เป็นต้น ในห้องยังพบศพทารกหญิงอีก 2 รายซึ่งเชื่อว่า เป็นพระราชธิดาของทุตอังค์อามุน และถึงแก่พระชนม์ในพระครรภ์

ห้องเสริม

ห้องเสริมไว้สำหรับตุนน้ำมัน เครื่องหอม กำยาน อาหาร และสุราบาน ห้องนี้เป็นห้องสุดท้ายที่ขนข้าวของออกไป การขนย้ายดังกล่าวดำเนินขึ้นในระหว่างปลายเดือนตุลาคม 1927 ถึงฤดูใบไม้ผลิของปี 1928 แม้เป็นห้องเล็ก แต่ก็มีของมากกว่า 2,000 ชิ้น

ปัจจุบัน พระศพฟาโรห์ตุตันคาเมน ยังคงประดิษฐานอยู่ในสุสานในหุบผากษัตริย์ แต่ได้รับการนำออกแสดงบ้าง เช่น เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2007 มีการนำพระศพขึ้นจากสุสานไปจัดแสดง ณ เมืองลักซอร์ (Luxor) โดยย้ายพระศพซึ่งพันผ้านั้นออกจากหีบทอง และบรรจุไว้ในโลงแก้วที่มีระบบควบคุมอากาศ ก่อนเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *