Business

ไทยจะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเหมือนเวเนซุเอลาหรือไม่?

photo : themomentum.co

ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา ประเด็นที่ถกเถียงกันในสังคมมากที่สุดประเด็นหนึ่ง คือ นโยบายประชานิยมที่ผู้แทนพรรคต่างๆ สัญญาไว้กับประชาชน จะทำให้ไทยเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบที่เวเนซุเอลากำลังประสบอยู่หรือไม่คอลัมน์บางขุนพรหมชวนคิดวันนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านมาถกในประเด็นนี้ว่าเป็นความจริงมากน้อยเพียงใด

เกิดอะไรขึ้นกับเวเนซุเอลา?: เวเนซุเอลากำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรง  (hyperinflation) กล่าวคือ ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปในระบบเศรษฐกิจพุ่งสูงขึ้นถึง 9.29 แสน% ต่อปี (ณ สิ้นปี 2561 ตามประมาณการ IMF เพราะทางการหยุดประกาศตัวเลขจริงไปตั้งแต่ปี 2559) หรือเปรียบเปรยอย่างง่ายๆ ได้ว่า ข้าว 1 จาน ที่เคยซื้อ 30 บาทเมื่อสิ้นปี 2560 กลับต้องซื้อจานละเกือบ 3 แสนบาทตอนสิ้นปี2561 นำมาสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร น้ำสะอาดและยารักษาโรค ส่งผลให้อัตราการเกิดอาชญากรรมสูงขึ้นมากและประชาชนอพยพออกนอกประเทศ นอกจากนี้ เศรษฐกิจเวเนซุเอลายังหดตัวลงถึง 50% ในช่วงเวลาเพียง 5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ระดับเงินสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลงเรื่อยๆ (เหลือประมาณ 8 ร้อยล้านดอลลาร์ สรอ. ณ สิ้นปี 2561 เทียบกับ 3 หมื่นล้าน ก่อนประธานาธิบดีมาดูโรเข้ารับตำแหน่งในปี 2556) ดูท่าแล้วมืดมน แทบไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์นี่ยังไม่นับรวมปัญหาไฟฟ้าดับเกือบทั้งประเทศที่ทำให้เวเนซุเอลาอยู่ใน “ความมืดมิด” จริงๆ

เพราะอะไรทำให้เวเนซุเอลามาถึงจุดนี้? : ภาวะเงินเฟ้ออย่างรุนแรงของเวเนซุเอลาเกิดขึ้นจากปัญหาทางการคลังที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน ส่วนหนึ่งเกิดจากผลการขาดทุนของรัฐวิสาหกิจผนวกกับการดำเนินนโยบายประชานิยม (ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีชาเวซ) โดย ณ สิ้นปี 2561 มีสัดส่วนหนี้สาธารณะ (ตามข้อมูล IMF ประมาณ 159% ต่อ GDP) และสัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในระดับสูงมาก (นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ว่าอยู่ประมาณ 150% ต่อ GDP) ขณะที่รายได้รัฐบาลจากการขายสินค้าหลักของประเทศคือ น้ำมัน” ลดลงมากในช่วงที่ผ่านมา ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ทำให้ระดับเงินสำรองระหว่างประเทศลดฮวบ นำมาสู่ปัญหาที่รัฐบาลไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้เพราะต้องชำระคืนหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม แทนที่รัฐบาลเวเนซุเอลาจะแก้ปัญหาโดยการรัดเข็มขัดทางการคลังกลับสั่งการให้ธนาคารกลางเวเนซุเอลาพิมพ์เงินออกมาเพื่อแลกเป็นเงินตราต่างประเทศไปใช้คืนหนี้และทำอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ ทำให้ปริมาณเงินในระบบสูงขึ้น โดยไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ขณะที่ไม่มีใครต้องการถือเงินโบลิวาร์ ส่งผลให้เงินสกุลนี้แทบไม่มีค่าในที่สุด

photo : Kapook

แล้วไทยจะเป็นเหมือนเวเนซุเอลาหรือไม่?: น่าจะเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุผลสำคัญคือ

  1. ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐบาลไทยมีเสถียรภาพ สะท้อนจากสัดส่วนหนี้สาธารณะประมาณ 42% ต่อ GDP ต่ำกว่าเกณฑ์สากลที่ 60% นอกจากนี้ มองไปข้างหน้า พ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ฉบับใหม่ยังจะช่วยเป็นเกราะป้องกันให้รัฐบาลชุดใดก็ตามที่เข้ามาบริหารประเทศต้องมีวินัยในการจัดหารายได้ จัดทำงบประมาณ และบริหารหนี้สาธารณะอย่างรอบคอบและคุ้มค่า
  2. เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยมั่นคงมาก สะท้อนจากเงินสำรองระหว่างประเทศของไทยที่อยู่ในระดับสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก ซึ่งทำหน้าที่เป็นกันชนอย่างดีหากมีเหตุที่ทำให้เงินทุนไหลออกในปริมาณมากอย่างฉับพลัน ขณะที่การพึ่งพาเงินกู้ต่างประเทศต่ำมากเมื่อเทียบกับค่ากลางของประเทศตลาดเกิดใหม่ด้วยกัน (ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 35.3% ต่อ GDP เทียบกับค่ากลางที่ 37.8%) รวมทั้งไทยเกินดุลบัญชีสะพัดอย่างต่อเนื่อง การส่งออกกระจายตัวในประเภทสินค้าและประเทศปลายทางที่หลากหลาย แถมยังมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น (ต่างจากเวเนซุเอลาที่พึ่งพารายได้เงินตราต่างประเทศจากการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคของไทยในช่วงที่ผ่านมาที่มุ่งรักษาเสถียรภาพด้านต่างประเทศ หลังจากเกิดบทเรียนราคาแพงในปี 2540
  3. การจัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีทุนสำรองเงินตราหนุนหลังตามกฎหมาย กล่าวคือ ปัญหาเงินเฟ้อของเวเนซุเอลาขยายผลร้ายแรงมาถึงวันนี้ เพราะธนาคารกลางเวเนซุเอลายังคงต้องพิมพ์เงินเพิ่มตามคำสั่งรัฐบาล และสูญเสียความอิสระในการดำเนินนโยบาย แต่ในทางกลับกัน ธปท. ซึ่งดำรงความเป็นอิสระและดำเนินตามพันธกิจสำคัญคือ “การรักษาเสถียรภาพของเงินตรา” ย่อมปฏิบัติตาม พ.ร.บ. เงินตรา พ.ศ. 2501 ที่กำหนดให้การจัดพิมพ์และออกใช้ธนบัตรต้องมีทุนสำรองเงินตรา (เช่น ทองคำและเงินตราต่างประเทศ) หนุนหลัง

เมื่อไทยแตกต่างจากเวเนซุเอลา งั้นนโยบายประชานิยมก็ทำได้เรื่อยๆ อย่างนั้นหรือ?: นโยบายประชานิยมที่ดีนั้น ควรอยู่ภายใต้หลักของการรักษาวินัยทางการเงินการคลังที่รัดกุม และต้องสร้างประโยชน์ในระยะยาว เช่น การส่งเสริมโอกาสให้เกิดความเท่าเทียมในระบบเศรษฐกิจ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ได้จำกัดอยู่ที่โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ แต่ยกระดับโครงสร้างอื่นๆ ด้วย อาทิการศึกษา สังคม และสาธารณสุขอันจะช่วยป้องกันไม่ให้ประเทศไทยต้องประสบปัญหาทางการคลังเหมือนเวเนซุเอลา

การที่สังคมถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียของนโยบายประชานิยมที่พรรคต่างๆ กล่าวถึงตอนหาเสียง เป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ และเกิดความเข้าใจในความเห็นของกันและกัน อย่างไรก็ตามการถกเถียงนั้นควรอยู่บนหลักของเหตุผล ตรรกะ และข้อมูลจริง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับสังคมครับ!

นายสุพริศร์ สุวรรณิก

ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย

(บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย)

ที่มา : bot.or.th

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *