ขี้เกียจไม่ดีจริงหรือ ? คนขี้เกียจใช้พลังงานสมองในการตัดสินใจมากกว่าคนทั่วไป

การทำตัวขี้เกียจเฉื่อยแฉะนั้นถูกสังคมมองว่าเป็นเรื่องผิดมาโดยตลอด แต่มีผู้คนในยุคมิลเลนเนียลจำนวนมากขึ้นที่เห็นว่าความเกียจคร้านในบางโอกาสไม่ใช่เรื่องเสียหาย
ลูซี แกรนส์เบอรี นักแสดงหญิงชาวออสเตรเลียเป็นคนหนึ่งที่ป่าวประกาศอย่างเปิดเผยว่า “ภูมิใจที่ได้เป็นคนขี้เกียจ” และยังออกรณรงค์ชักชวนให้ผู้คนหันมามองกันเสียใหม่ว่า ความเกียจคร้านไม่ได้เป็นเรื่องแย่กับชีวิตถึงขนาดนั้น

“คนขี้เกียจสมควรได้รับการยกย่องมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะพวกเราค้นพบหนทางลัดสั้นที่มีประสิทธิภาพที่สุดเพื่อไปถึงจุดหมาย ตัวฉันเองชอบคิดหาวิธีทำงานบ้านที่ประหยัดทั้งเวลาและแรงงาน เช่นล้างห้องน้ำขณะที่อาบน้ำไปด้วย หรือเป่าลมร้อนให้เสื้อผ้าแห้งและเรียบได้ในครั้งเดียวโดยไม่ต้องรีดอีก” ลูซีกล่าว

“ความเกียจคร้านควรถูกมองเสียใหม่ว่าเป็นคุณสมบัติเชิงบวก เพราะมันทำให้คุณจัดลำดับความสำคัญของสิ่งต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และช่วยประหยัดพลังงาน”

“คนฉลาดอย่างบิล เกตส์ ยังเคยบอกไว้ว่า เขาจะเลือกคนขี้เกียจมาทำงานที่ยากที่สุด เพราะคนพวกนี้จะพยายามหาหนทางที่ง่ายที่สุดทำให้งานสำเร็จลุล่วง สิ่งอำนวยความสะดวกส่วนใหญ่ต่างก็ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพราะความขี้เกียจทั้งนั้น”

สมองทำงานหนักให้ร่างกายเบาแรง

แนวคิดของลูซีไม่ได้เป็นเพียงเรื่องขำขันที่พูดกันเล่น ๆ แต่มีงานวิจัยทางประสาทวิทยาศาสตร์มารองรับด้วย โดยศาสตราจารย์มาซุด ฮูเซน จากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดของสหราชอาณาจักร ได้เคยตีพิมพ์ผลการศึกษาเรื่องการทำงานของสมองในคนที่มีบุคลิกเฉื่อยชาและเกียจคร้าน ลงในวารสาร Celebral Cortex เมื่อปี 2015 โดยยืนยันว่าคนขี้เกียจมีการทำงานของสมองในระดับที่สูงกว่าคนทั่วไปจริง

มีการทดลองตรวจวัดความเคลื่อนไหวของกระแสประสาทในสมองกับคนสามกลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่มีบุคลิกกระตือรือร้นซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นคนขยันขันแข็งไปด้วย กับกลุ่มคนที่มีบุคลิกเฉื่อยชาเกียจคร้าน รวมทั้งคนที่มีบุคลิกแบบผสมผสานระหว่างสองกลุ่มแรก

ผู้เข้ารับการทดสอบทั้งหมดจะต้องตัดสินใจว่า จะออกแรงบีบกำมือเพื่อให้ได้รับรางวัลตอบแทนอย่างใดอย่างหนึ่งที่ผู้วิจัยเสนอให้หรือไม่ โดยจะมีการเปลี่ยนชนิดของรางวัลและระดับการออกแรงที่จำเป็นต้องทำไปเรื่อย ๆ

ผลปรากฏว่ากลุ่มคนขี้เกียจมีแนวโน้มจะไม่ค่อยออกแรงเพื่อให้ได้รางวัลตอบแทนมากนัก แต่ผลสแกนการทำงานของสมองของพวกเขาในระหว่างนั้นกลับชี้ว่า ระบบประสาทมีความเคลื่อนไหวและใช้พลังงานไปเพื่อการตัดสินใจสูงกว่ากลุ่มทดลองอื่น ๆ อย่างมาก สอดคล้องกับแนวคิดที่ว่า คนขี้เกียจชอบใช้ความคิดมากกว่าเพื่อที่จะไม่ต้องลงมือทำสิ่งต่าง ๆ ให้วุ่นวายเปลืองแรง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *