รางจืด สุดยอดสมุนไพร ล้างพิษ

รางจืด เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ ACANTHACEAE มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thunbergia laurifolia Lindl. รางจืดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่มีหลายชื่อ เป็นชื่อตามท้องถิ่นต่างๆ ที่คนไทยในแต่ละพื้นที่จะเรียกขานกัน เช่น กำลังช้างเผือก, ขอบชะนาง, เครือเขาเขียว, ยาเขียว (ภาคกลาง), รางเย็น (ยะลา), ดุเหว่า (ปัตตานี), ทิดพุด (นครศรีธรรมราช), น้ำนอง (สระบุรี), ย่ำแย้ แอดแอ (เพชรบูรณ์) หรือน้ำแน่ (อีสาน) เป็นต้น

พืชสมุนไพรประเภทนี้มีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมากมายตั้งแต่ใบจรดราก โดยสามารถแก้อาการที่เกิดจากพิษต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่ พิษยาเบื่อ ยาสั่ง ยาฆ่าแมลง พืชพิษ เห็ดพิษ พิษสุราและยาเสพติด พิษงู แมลงป่อง หรือตะขาบ

รางจืดมีฤทธิ์ดูดซับพิษต่างๆและมีสรรพคุณที่ถูกวิจัยจนเป็นที่ยอมรับ ดังต่อไปนี้
1. รางจืดมีฤทธิ์ต้านพิษของสารกำจัดศัตรูพืช (ยาฆ่าหญ้า)
กลุ่มที่มีความเสี่ยงได้รับสารพิษเหล่านี้มากที่สุด คือ เกษตรกรที่ต้องใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชเป็นประจำ หากได้รับพิษกลุ่มนี้เข้าไป จะทำให้เกิดอาการวิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน แน่นหน้าอก หายใจลำบาก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ รางจืด ต้านพิษยากำจัดศัตรูพืชกลุ่มออร์กาโนฟอสเฟตได้ เนื่องมาจากสารสกัดของสมุนไพรชนิดนี้มีผลลดการยับยั้งเอนไซม์ cholinesterase หรือทำให้ระดับเอนไซม์ cholinesterase เพิ่มขึ้น นอกจากนั้น ยังมีฤทธิ์ยับยั้ง lipid peroxidation ซึ่งเป็นกลไกการออกฤทธิ์ต้านพิษพาราควอตอีกกลไกหนึ่งด้วย

2. ช่วยลดพิษของตะกั่ว
รางจืด นับได้ว่าเป็นสมุนไพรที่เข้ากับสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในบ้านเราเป็นอย่างมาก ยิ่งเป็นสภาพแวดล้อมในเมืองหลวงแล้วโอกาสที่จะเกิดมลภาวะเป็นพิษยิ่งเป็นไปได้สูง รางจืด คือ สมุนไพรที่สามารถลดความเสี่ยงและช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากการปนเปื้อนสารตะกั่วที่มาจากไอเสียน้ำมันเบนซินที่มีการสะสมในร่างกายจนกลายเป็นโรคพิษสารตะกั่วเรื้องรังในระยะยาวได้ โดยสารตะกั่วเหล่านี้จะเข้าไปสะสมในสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำและการเรียนรู้ (Hippocampus) จากการศึกษาพบว่า สมุนไพรชนิดนี้ สามารถช่วยลดอัตราการตายของเซลล์สมองอันเนื่องมาจากพิษของตะกั่ว อีกทั้งยังสามารถยับยั้งการลดลงของสารต้านอนุมูลอิสระในสมองที่เกิดจากพิษของตะกั่วได้อีกด้วย

3. ช่วยรักษาผู้ป่วยผู้ติดยาบ้า
ในปัจจุบัน หมอชาวบ้านได้มีการนำสมุนไพรพื้นบ้าน อย่าง รางจืด เข้ามาช่วยแก้พิษที่เกิดจากยาเสพติด ซึ่งในปัจจุบันมีรายงานทางการศึกษาว่า รางจืด มีฤทธิ์ที่ช่วยกระตุ้นประสาทเช่นเดียวกับ โคเคน (Cocaine) และ แอมเฟตามีน (Amphetamine) แต่มีฤทธิ์ที่อ่อนกว่า จึงมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ในการทำให้ผู้ที่ติดยาเสพติดสามารถเลิกเสพยาเสพติดได้ นอกจากนั้น ยังเป็นการป้องกันไม่ให้ตับถูกทำลายจากการดื่มเหล้าได้อีกด้วย โดยจากการศึกษาพบเพิ่มเติมอีกว่า รางจืด มีสารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในระดับที่สูงมาก

4. ช่วยรักษาโรคพิษสุราเรื้อรัง
การศึกษาวิจัยฤทธิ์ของรางจืดในการต้านพิษแอลกอฮอล์ต่อตับ พบว่าสารสกัดด้วยน้ำของรางจืดช่วยป้องกันการตายของเซลล์ตับจากพิษของแอลกอฮอล์ นอกจากนั้น ยังช่วยลดการเกิด hepatic lipid peroxidation ลดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด และเพิ่มระดับเอนไซม์ alcohol dehydrogenase และ aldehyde dehydrogenase ด้วย

ในทางคลินิก รพ.รัฐบาลหลายแห่งในประเทศไทยที่มีแพทย์แผนไทยประจำอยู่เริ่มมีการใช้รางจืดเพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรังควบคู่กับการรักษาโดยแพทย์แผนตะวันตก โดยรางจืดจะมีสรรพคุณช่วยขับปัสสาวะและมีฤทธิ์ลดความเป็นพิษของแอลกอฮอล์ต่อตับ ทำให้ผู้ป่วยสามารถค่อยๆ ถอนพิษสุราได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดีกว่าการหักดิบ งดสุราเลยทันทีซึ่งจะส่งผลไม่ดีต่อผู้ป่วยโดยตรง

5. ช่วยรักษาโรคผิวหนัง
ในปัจจุบัน ได้มีการยืนยันจากรายงานการศึกษาที่ระบุว่า รางจืด มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและสามารถต้านไวรัสโรคเริมได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ได้มีการออกมาสนับสนุนให้มีการใช้รางจืดในการรักษาผดผื่นคัน เริม งูสวัด หรืออาการผิวหนังอักเสบอื่นๆ

6. มีฤทธิ์ต้านพิษจากสัตว์ที่เป็นพิษและพืชพิษ
รางจืดช่วยแก้พิษแมงดาทะเลได้ ซึ่งสารพิษที่อยู่ในแมงดาทะเล คือ เทโทรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) สารนี้จะพบในแมงดาทะเลและปลาปักเป้า มีพิษทำให้ผู้ป่วยอาจถึงตายได้ ซึ่งวความรุนแรงของอาการพิษขึ้นอยู่กับปริมาณไข่แมงดาทะเลที่ได้รับ

มีรายงานการใช้รางจืดแก้พิษกับผู้ป่วยที่กินไข่แมงดาทะเลที่มีอาการรุนแรงถึงขั้นหมดสติว่า มีการใช้น้ำสมุนไพรรางจืดทาง NG tube 40 นาที ผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวและอาการดีขึ้นตามลำดับ

7. มีฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ (มะเร็ง)
รางจืดมีฤทธิ์ในการต้านมะเร็ง โดยมีการศึกษาฤทธิ์ต้านการก่อกลายพันธุ์ ซึ่งทั้งรางจืดแบบสดและแบบแห้งสามารถใช้ได้ผลเช่นกัน

รางจืดมีสารออกฤทธิ์อาจเป็นกรดฟีนอลิก ได้แก่ caffeic acid และ apigenin และสารกลุ่มคลอโรฟิลล์ ได้แก่ chlorophyll a, chlorophyll b,pheophorbide a และ pheophytin a ซึ่งสารเหล่านี้มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงมาก

8. มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต
การสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดแห้งมีผลทำให้ความดันโลหิตของหนูแรตลดลง โดยกลไกการออกฤทธิ์ส่วนหนึ่งอาจผ่าน Cholinergic receptor และทำให้หลอดเลือดแดงคลายตัว และช่วยขับปัสสาวะ

9. มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด
สารสกัดด้วยน้ำของใบรางจืดมีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด และทำให้เบต้าเซลล์ของตับอ่อนฟื้นฟูขึ้นบ้างแม้จะไม่สมบูรณ์

10.มีฤทธิ์แก้อักเสบ
รางจืดมีฤทธิ์ต้านการอักเสบสูงกว่ามังคุดประมาณ 2 เท่า และสารสกัดรางจืดในรูปแบบของครีมสามารถลดการอักเสบได้ดีเท่ากับสเตียรอยด์ครีม

ที่มา:คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *