“หน่อไม้” อาหารแสลง หรือคิดไปเอง ?

“หน่อไม้” มักอยู่ในรายชื่ออาหารที่ผู้หลักผู้ใหญ่มักไม่แนะนำให้ลูกหลานรับประทาน รวมถึงตัวเองด้วย ด้วยความเชื่อว่า หน่อไม้อันตราย เป็นอาหารแสลง ก่อให้เกิดโรคอันตราย เป็นแผลก็จะยิ่งทำให้แผลแย่ลง โดยเฉพาะหลังผ่าตัด รวมถึงยังเป็นสาเหตุของโรคอันตรายอย่าง “โรคมะเร็ง” อีกด้วย

แต่อันที่จริงแล้ว ความเชื่อเหล่านี้ เป็นความจริงมากน้อยแค่ไหน ?

หน่อไม้ มีทั้งประโยชน์ และโทษ หากเลือกกินอย่างเหมาะสม ก็สามารถให้ประโยชน์ต่อร่างกายได้ แต่หากินหน่อไม้ไม่ถูกวิธี ไม่มีความระมัดระวังในการกิน ก็อาจเป็นโทษต่อร่างกายได้จริง ๆ

หน่อไม้ที่เราบริโภคกัน มีอยู่หลายประเภท

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ระบุว่า หน่อไม้ดิบหรือหน่อไม้ที่ยังปรุงไม่สุก อาจได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ ซึ่งมีอยู่ในหน่อไม้ตามธรรมชาติ และทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณน้อย สามารถขับออกทางปัสสาวะได้ แต่ถ้าได้รับในปริมาณมาก สารไซยาไนด์จะจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดง (hemoglobin) แทนที่ออกซิเจนทำให้เกิดอาการขาดออกซิเจน หมดสติและอาจทำให้เสียชีวิตได้

ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการบริโภคหน่อไม้ดิบ นายมงคล เจนจิตติกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กล่าวว่า การบริโภคหน่อไม้ที่ต้มสุกจะทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากการได้รับสารไซยาไนด์ แต่หากอุณหภูมิและระยะเวลาในการต้มไม่เหมาะสมก็ไม่สามารถลดปริมาณสารชนิดนี้ได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคก่อนที่จะนำหน่อไม้ไปบริโภคควรปรุงให้สุก ด้วยการต้มหน่อไม้ในน้ำเดือดนานอย่างน้อย 10 นาที ซึ่งสามารถลดปริมาณสารไซยาไนด์ลงได้ถึงร้อยละ 90.5

หน่อไม้เป็นอาหารอีกหนึ่งชนิดที่นิยมนำมาหมักดองเพื่อการเก็บรักษาอาหารเอาไว้ให้ได้นานยิ่งขึ้น โดยมักทำการดองเอาไว้ในปิ๊บเป็นเวลาหลายเดือน หากขั้นตอนการหมักดองไม่สะอาดเพียงพอ จะเกิดเป็นเชื้อแบคทีเรีย Clostridium botulinum เจริญเติบโตอยู่ในหน่อไม้ที่อยู่ในปี๊บ หากทำมาปรุงอาหารด้วยความร้อนที่ไม่เพียงพอ อาจได้รับเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ ท้องเสีย อาเจียน ท้องเสีย หากสารพิษโบทูลินเริ่มซึมจากระบบทางเดินอาหาร เข้าสู่กระแสเลือดและระบบประสาท อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อหนังตา ลูกตา ใบหน้า การพูดการกลืนผิดปกติ กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง หายใจไม่ออก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

นอกจากนี้ หน่อไม้ที่สะอาด และปรุงสุกด้วยความร้อน ปลอดภัยในการบริโภคก็จริง แต่ยังมีคนบางประเภทที่ไม่ควรบริโภคหน่อไม้มากจนเกินไป ได้แก่

ผู้ป่วยโรคเกาต์ เพราะหน่อไม้มีสารพิวรินสูง อาจจะทำให้กรดยูริกที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคเกาต์สูงขึ้น

ผู้ป่วยโรคไต ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีกรดยูริกมากเกินไป (เช่น หน่อไม้) เพราะอาจมีปัญหาในการขับกรดยูริกส่วนเกินออกไปร่างกายไม่ได้

แม้ว่าจะมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่ควรบริโภคหน่อไม้ แต่ในคนที่มีสุขภาพปกติดี รวมถึงผู้ป่วยเหล่านี้ สามารถรับประทานหน่อไม้ได้

ผู้ป่วยเบาหวาน หน่อไม้ไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดแต่อย่างใด

ผู้ป่วยโรคตับ ไม่ว่าจะเป็นไวรัสตับอักเสบ หรือตับแข็ง ก็สามารถรับประทานหน่อไม้ได้ ไม่มีผลกระทบต่ออาการของโรค

ผู้หญิงที่มีประจำเดือน มีระดูขาว หน่อไม้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการเกิดระดูขาวในผู้หญิงแต่อย่างใด

ผู้ที่มีแผล หลังผ่าคลอด หลังผ่าตัด หน่อไม้ไม่ได้มีส่วนทำให้แผลอักเสบ หายช้า หรือติดเชื้อใด ๆ เช่นกัน

หน่อไม้ ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งแต่อย่างใด (ยกเว้น หน่อไม้ฝรั่ง ที่สารแอสพาราจีน (Asparagine ) ซึ่งมีอยู่ในหน่อไม้ฝรั่งและอาหารอีกหลายชนิด เป็นตัวการที่ช่วยให้เซลล์มะเร็งเต้านมแพร่กระจายและเจริญเติบโตลุกลามไปทั่วร่างกายได้มากยิ่งขึ้น)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *