“เรือหางแมงป่อง”การเดินทางของคนเชียงใหม่ในอดีต

การเดินทางในสมัยก่อนนั้นไม่ว่าจะเป็นการติดต่อค้าขายหรือเดินทางไปไหนก็จะนิยมใช้การเดินทาง ทางน้ำเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างมิตรไมตรีของคนสมัยก่อนก็จะใช้การเดินทางทางน้ำเพราะเป็นการเดินทางที่สะดวกมากที่สุดในยุคอดีตโดยใช้เรือล่องลำน้ำไปมาหาสู่กัน

การเดินเรือทางแม่น้ำลำคลองได้รับความนิยมอย่างสูงในสมัยก่อนเรือหางแมงป่องมีบทบาทมากที่สุดในแม่น้ำปิง ผู้โดยสารหรือพ่อค้าที่อยู่ทางภาคกลาง และหัวเมืองฝ่ายเหนือ เช่น ที่เชียงใหม่ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ หรือจังหวัดน่าน ได้อาศัยเรือเหล่านี้เดินทางไปธุระ และค้าขายติดต่อกันเสมอถึง กับขนานนามให้แก่ “เรือหางแมงป่อง” นี้ว่าเป็น “สิงห์แม่น้ำปิง”

บรรดาราชวงศ์และเจ้านายเมืองเหนือในอดีตก็ล้วนแต่ใช้เรือหางแมงป่องในการเดินทางไปยังเมืองต่างๆมาเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

ยุคต่อมาครั้งหนึ่งก็ได้มีการใช้เรือหางแมงป่องในการขนส่งสินค้า และ การเดินทาง ระหว่าง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่

อย่างไรก็ตามในสมัยนั้นภูมิประเทศส่วนมากมีลักษณะทุรกันดาร จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดได้แน่นอนว่าจะถึงตามระยะทางที่คาดหมายไว้ได้หรือไม่ บางครั้งชาวเรือจึงต้องหาที่พักค้างแรมตามสถานที่ต่างๆ ตามความเหมาะสมเพื่อความปลอดภัยของตนเอง และการเดินทางในแต่ละครั้งจะต้องรอสินค้า และผู้โดยสารจนเต็มลำจึงจะออกเดินเรือ อีกทั้งยังต้องไปคราวละหลายๆ ลำเพื่อจะได้คอยช่วยเหลือกันระหว่างนำเรือทวนขึ้นแก่ง และเพื่อป้องกันโจรผู้ร้ายดักปล้นระหว่างทางอีกด้วย

ลักษณะของเรือหางแมงป่อง จะคล้ายกับเรือหางยาว รูปลักษณ์เหมือนกับกาบมะพร้าว มีประทุน ท้ายยกงอนสูง ด้วยความชาญฉลาดของคนล้านนาโบราณ ใช้ไม้สักทั้งต้นที่มีขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-8 เมตร ขนาด 20 คนโอบ มาขุดทำเป็นเรือ เพราะไม้สักเป็นไม้ที่หาง่ายในพื้นที่ภาคเหนือ น้ำหนักเบา และคุณสมบัติพิเศษคือลอยน้ำได้ดีกว่าไม้ชนิดอื่นๆ ไม่บิดไม่งอ สามารถทนแรงกระแทกกับโขดหินได้ดี ดังนั้นจึงเป็นเรือชนิดเดียวที่สามารถล่องในน้ำปิงได้ เพราะลำน้ำปิงจะเต็มไปด้วยเกาะแก่งและหาดทรายมากมาย

การสร้างทางรถไฟมาถึงเชียงใหม่ และเปิดใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2464 ในสมัยรัชกาลที่6 ความนิยมในการใช้เรือหางแมงป่องเดินทางขนส่งสินค้าขึ้นล่องในลำน้ำปิงก็ลดลงไป เนื่องจากรถไฟมีความสะดวกรวดเร็วกว่า การเดินทางจากกรุงเทพขึ้นมาเชียงใหม่ใช้เวลาไม่นานเหมือนแต่ก่อน ผู้คนจำนวนมาก หันมาใช้บริการของรถไฟจึงทำให้แต่ละขบวนแออัดไปด้วยผู้โดยสาร จนบางครั้งต้องออกแรงปีนขึ้นไปนั่งบนหลังคาก็มี หลังจากนั้นทางมณฑลพายัพจึงได้สร้างสถานีรถไฟประจำเชียงใหม่ขึ้น ชาวบ้านเรียกสถานีนี้ว่า “สถานีป๋ายราง” หมายถึงที่สิ้นสุดของรางรถไฟ การคมนาคมทางบกและทางเรือซึ่งใช้กันมาก่อนและต้องนอนแรมกันนานเป็นเดือนก็ไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป

การสร้างทางรถไฟสายเหนือมาถึงเชียงใหม่ยังถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การค้าของเชียงใหม่เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น เพราะผู้คนในเชียงใหม่และต่างถิ่นสามารถเดินทางเข้าออกไปค้าขายได้สะดวก จนในยุคหลังเมื่อมีการตัดถนนมายังเชียงใหม่ยิ่งทำให้การเดินทางสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *