ไขความลับ เพลง …ก่อน โมเดิร์นด็อก

ถ้าผมบอกว่า โมเดิร์นด็อกไม่ได้เป็นคนแต่งเพลง …ก่อน

เพลงแจ้งเกิดอันทำให้พวกเขาโด่งดังเป็นพลุแตก ที่ไม่ว่าใครก็ร้องตามได้เพียงการฟังครั้งแรก แต่โมเดิร์นด็อกคือผู้นำมันมาขับร้อง

และถ้าความหมายของเพลง …ก่อน แท้จริงแล้วมาจากความตายอันน่าเศร้าของแฟนเพลง มันคงทำให้ท่านผู้อ่านเข้าถึงบทเพลง หนาวเหน็บไปทั่วสันหลังและน้ำตาไหลเบาๆ อย่างที่ผมประสบ

หากเราเอ่ยชื่อ พราย นักร้อง นักแต่งเพลงแนวโพรเกรสซีฟร็อค ผมเชื่อว่าเด็กรุ่นใหม่น้อยคนนักที่จะรู้จักนักดนตรีสติหลุด กับการแสดงที่ทรงพลังคนนี้

ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะวงการดนตรีไทยตั้งแต่ยุค 80 เป็นต้นมา ถูกวัฒนธรรมป๊อบจากฝั่งตะวันตกเข้ามาผสมปนเป จนทำให้ค่านิยมการฟังดนตรีของบ้านเราเปลี่ยนไป

ไล่เรียงมาตั้งแต่วงแกรนด์ เอ็กซ์ (ดิสโก้ป๊อบ,สตริง) ที่เก่งในด้านนำเพลงเก่ามาเรียบเรียงใหม่ให้ทำนองดิสโก้น่าโยกมากขึ้น, นูโว กับจังหวะซินธ์ป๊อบสนุกๆของพวกเขา หรือกระทั่งป๋าเบิร์ดที่มาในสไตล์สโลว์ป๊อบในระยะแรก ก่อนจะปรับมาเป็นป๊อบแดนซ์ในเวลาต่อมา

ลากยาวไปถึงห้วงปี 2000 กว่า 20 ปี ดนตรีป๊อบที่ผลิตโดยสองค่ายยักษ์ใหญ่ผลิบานถึงขีดสุด แทบไม่มีพื้นที่ให้ดนตรีแนวอื่นเลย
.

จนกระทั่งการมาถึงของเด็กหนุ่มจากรั้ว ม.กรุงเทพ ชื่อ ปฐมพร ปฐมพร (พี่แกใช้ชื่อจริงกับนามสกุลเดียวกันครับ)

ปฐมพรเป็นเด็กต่างจังหวัดเข้ามาร่ำเรียนในเมืองหลวง หวังคว้าใบปริญญาเป็นหน้าเป็นตาให้แก่วงศ์ตระกูล ด้านการเรียนปฐมพรทำได้ดี แต่ที่ดียิ่งกว่า คือพรสวรรค์ทางด้านดนตรี โดยเฉพาะการประพันธ์คำร้องที่สวยงามราวกับหลุดมาจากวรรณคดี

เขาก่อตั้งวงแรกในชีวิตชื่อวง GAY ร่วมกับ พิเชษฐ์ นิ่มสุวรรณ มือกีตาร์ และ สมประสงค์ หมีปาน มือกลอง ทั้งสามร่วมกันทำเพลงเดินสายประกวดหลายงาน จนฉายแววเข้าตาค่ายดนตรี สโมสรผึ้งน้อย ที่มี อัสนี โชติกุล จากวงอัสนี วสันต์ นั่งแท่นเป็นโปรดิวเซอร์

หลังเข้าค่าย ในปี 1987 พวกเขาเปลี่ยนชื่อวงเป็น MAY 21st เพราะวงทำเพลงกันเสร็จในวันที่ 21 พฤษภาคม และออกเดินสายแสดงสดไปทั่วกทม.

จนมีอยู่ครั้งหนึ่ง วงไปเล่นในงานของคลื่นวิทยุไนท์สปอต ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การแสดงครั้งนั้นออกมาค่อนข้างแย่ ด้วยปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับคีย์บอร์ด คือมีเด็กมาจิ้มๆคีย์บอร์ดก่อนวงจะขึ้นเล่นจนคีย์เพี้ยน! เมื่อเล่นเสร็จสมาชิกในวงทะเลาะกันยกใหญ่ และตกลงแยกทางกันหลังจากนั้นไม่นาน

ต่อมาในปี 1989 ด้วยความมุ่งมั่นกับแนวทางของตนเอง ซึ่งแม้จะดูแปลกในยุคสังคมนิยมป๊อบ แต่ก็ทำให้ปฐมพรถูกเซ็นสัญญาอีกครั้งในฐานะศิลปินเดี่ยวกับค่าย รถไฟดนตรี

อัลบั้มแรกในฐานะศิลปินเดี่ยวของ ปฐมพร ชื่อว่า “ไม่ได้มามือเปล่า” มีเพลงเอกชื่อเหมือนอัลบั้มคือ “ไม่ได้มามือเปล่า” เป็นเพลงฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง กลายเป็นคำพูดยอดฮิตของคนสมัยนั้นเวลาเจอกันว่า

“เฮ้ เราไม่ได้มามือเปล่านะ เอา … มาฝาก”

ปฐมพรมีเสียงร้องปานกลาง ไม่ได้ดีเลิศเหมือนนักร้องลูกคอทองคำคนอื่น วิธีการร้องจะเน้นการระบายสิ่งที่อยู่ข้างใน ระบายอารมณ์ออกมา จนบางครั้งเหมือนกับการพร่ำบ่นเสียมากกว่า และยังชอบทาหน้าด้วยสีฟ้าเวลาขึ้นแสดง เรียกได้ว่ามีความเป็นศิลปินสูงมาก

เหตุนี้เอง เขาจึงมีคนรักเท่าผืนหนังคนชังเท่าผืนเสื่อ กล่าวคือ คนชอบก็เยอะ แต่กระแสตีกลับจากคอเพลงป๊อบในยุคนั้นก็รุนแรงเช่นเดียวกัน

“เพลงอะไรของมัน ฟังไม่รู้เรื่อง”
“ทำไมไม่ร้องให้ดี ให้เพราะ อย่างนักร้องคนอื่นเขา”
“เป็นบ้าหรือไง เอาสีมาทาหน้าทาตัว คิดว่าโก้หรือ?”

นักวิจารณ์ แฟนเพลง ดีเจรายการวิทยุ ประเคนคำถามทำร้ายจิตใจเหล่านี้ไปสู่ค่ายเพลงอย่างไม่หยุดหย่อน และเมื่อมันมากเข้า เขาก็ตั้งคำถามกับตนเองเช่นเดียวกัน
เราเกิดมาทำไม? เราเกิดมาเพื่ออยู่ในกรอบของสังคมแล้วตายจากไป หรือเราเกิดมาพร้อมกับสิทธิทางความคิดที่ไม่มีใครเข้าใจ
ถึงแม้เราจะเป็นเพียงคนเล็กๆที่ไม่สำคัญ แต่การแสดงของเราคือสิ่งจริงแท้ที่มาจากสัญชาติญาณ เรามิอาจเปลี่ยนแปลงมันได้ จะไม่มีที่ยืนในสังคมให้เราแสดงความสัตย์นี้ออกมาเลยหรือ?
ปฐมพรออกเดินสายทัวร์อัลบั้มแรกอยู่พักใหญ่ จนกระทั่งงานแสดงสดที่ ร็อคผับ ราชเทวี อันเป็นคอนเสิร์ตสุดท้ายก่อนประกาศอำลาวงการดนตรี

ในปี 1991ไม่มีใครรู้แน่ชัดถึงเหตุผลที่ทำให้ปฐมพรหวนคืนวงการ พร้อมกับวลีเด็ด “ปฐมพร ตายเป็นพราย” ซึ่งทำให้เขาเปลี่ยนชื่อมาเป็นพรายนับแต่นั้น แถมทุกเพลงในอัลบั้มยังไม่มีชื่อเรียกเสียด้วย นี่ยังไม่นับการแก้ผ้าถ่ายรูปประกอบในอัลบั้มอีกนะ!

เช่นเคย งานของพรายถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง แต่ปฐมพรคนเดิมตายจากไปแล้ว พรายคนนี้คือนักดนตรีที่เข้มแข็ง ทั้งแนวทางการทำเพลงและสภาพจิตใจ

สาเหตุมาจากในช่วงที่ประกาศเลิกเล่นดนตรีและพักผ่อนอยู่นั้นเอง ได้เกิดเหตุการณ์ที่ถึอเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตของปฐมพร

ปฐมพรได้รับจดหมายจากแฟนเพลงเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง บอกเล่าเรื่องราวความชอบของตนต่อตัวเขาในฐานะศิลปิน ซึ่งเธอก็มีพี่สาวอีกคน และทั้งคู่เป็นแฟนตัวยงของเขา

จดหมายเริ่มมาด้วยภาษาอันสวยงามในการให้กำลังใจปฐมพร แต่เมื่อเข้าถึงช่วงกลาง เด็กผู้หญิงจึงเริ่มเผยความจริงอันน่าสะเทือนใจ

เธอกล่าวโดยนัยว่า มันคงจะดีไม่น้อย หากพี่สาวของเธอจะเข้มแข็งและได้อยู่ฟังเพลงของปฐมพรอีกครั้ง พี่สาวของเธอ จากไปโดยการฆ่าตัวตาย

คงไม่ต้องบอก ว่าจดหมายฉบับนี้ส่งผลต่อจิตใจของปฐมพรมากแค่ไหน มากเพียงพอที่จะทำให้เขาลุกขึ้นยืนอีกครั้ง และเป็นกำลังใจให้กับคนที่เหลืออยู่ น้องผู้หญิงคนนั้น

เขาคว้ากีตาร์ขึ้นมา และเริ่มแต่งเพลงให้พี่น้องคู่นี้ด้วยทุกอย่างที่เขามี
“ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ก่อนความอบอุ่นของไอแดด
ก่อนดอกไม้จะผลิบาน ก่อนความฝันอันแสนหวาน”

ทุกตัวอักษร ทุกถ้อยคำร้อง หากเราลองคิดดู มันคือสิ่งที่เขาร้องบอกตัวเองและเด็กสาวคู่นั้น โดยเป็นการเปรียบเปรยว่า ถ้าหากเขารู้เรื่องนี้ก่อน หรือถ้าหากพี่สาวของเธอได้ฟังเพลงนี้ของเขาก่อน
และที่เจ็บปวดที่สุดคือ ถ้าหากเขาไม่ยอมแพ้หันหลังให้วงการดนตรีไปเสียก่อน อะไรก็คงแตกต่างออกไป

ปฐมพรแต่งเพลงนี้เก็บไว้ และหยิบเอามาร้องให้ตัวเองฟังอยู่บ่อยครั้ง มันสามารถให้กำลังใจเขาเวลาที่เจออุปสรรคในการทำงานได้อย่างน่าอัศจรรย์

จนกระทั่ง สุกี้-กมล สุโกศล แคลปป์ ผู้ซึ่งกำลังทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ให้วงร็อค/กรันจ์ น้องใหม่ไฟแรงชื่อ Modern Dog ได้ยินเขาร้องเพลงนี้โดยบังเอิญในห้องซ้อม

ด้วยความชื่นชอบในเนื้อร้อง ทำนอง และอารมณ์เพลงเป็นอย่างมาก สุกี้ จึงเอ่ยปากขอเพลงนี้ไปให้ Modern Dog ร้อง เพราะทางวงกำลังต้องการเพลงช้าอยู่พอดี ซึ่งปฐมพรก็ยินดีมอบให้ไปขับขาน

และ Modern Dog ก็ไม่ทำให้ทุกคนผิดหวัง เพลง …ก่อน ทะยานขึ้นชาร์ตอันดับหนึ่ง กลายเป็นเพลงแจ้งเกิดให้กับ Modern Dog และเป็นรากฐานให้กับดนตรีทางเลือกแนวอื่นๆมาจนถึงปัจจุบัน

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยไหมว่าทำไมชื่อเพลง …ก่อน จึงมี จุดสามจุดนำหน้าอยู่เสมอ จุดสามจุดนั้น แทนความหมายของชีวิตสามชีวิตที่เกี่ยวโยงกันจนเกิดเป็นเพลงนี้ นั่นก็คือ ปฐมพร, เด็กสาวผู้เขียนจดหมาย และพี่สาวที่ล่วงลับของเธอ จุดสามจุดนั้น ยังแทนคำที่ไม่เคยถูกเขียนลงไปสามคำ ซึ่งก็คือ
เธอจากไป… ก่อน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *