กำเนิดหมอหลวง-หมอเชลยศักดิ์ วางรากฐานสาธารณสุขสยาม

การแพทย์แผนไทย หรือ การแพทย์แผนโบราณ เป็นความรู้ที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ จากในอดีตที่ไม่มีเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาให้การช่วยเหลือ ชาวบ้านที่เจ็บป่วยจึงต้องหันไปพึ่งพาหมอที่อยู่ตามชุมชนหมู่บ้านในละแวกใกล้เคียง ซึ่งหมอเหล่านี้ก็มีการนำเอาความรู้มาจากตำราบันทึกประสบการณ์ และการบอกเล่าจากหมอรุ่นเก่า กลายเป็นที่พึ่งพิงสำหรับชาวบ้านมาช้านาน

สมัยรัชกาลที่ 1 (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

เริ่มปฏิสังขรณ์ “วัดโพธิ์ (วัดโพธาราม)” ใหม่ให้กลายเป็นอารามหลวง เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม” ทรงให้มีการเก็บรวบรวมความรู้เกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยเอาไว้ ตั้งแต่ตำรายาสมุนไพร ฤาษีดัดตน และตำราที่เกี่ยวกับการนวด จารึกไว้เป็นความรู้ตามศาลาราย ส่วนที่มีรายละเอียดปลีกย่อยเจาะลึกลงไป ทรงจัดตั้งกรมหมอและโรงพระโอสถเช่นเดียวกับในสมัยอยุธยา มี “หมอหลวง” เป็นแพทย์ที่รับราชการ และ “หมอราษฎร (หมอเชลยศักดิ์)” ทำหน้าที่รักษาประชาชนทั่วไป

สมัยรัชกาลที่ 2 (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)

ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมตำราแพทย์แผนไทยโบราณที่สูญหายไปเป็นจำนวนมากขึ้นมาใหม่ อันเนื่องมาจากสงครามระหว่างไทยรบกับพม่าติดต่อกันถึง 2 ครั้ง บ้านเมืองจึงถูกทลาย พร้อมกับเหล่าแพทย์ที่มีความรู้ถูกกวาดต้อนให้ไปรวมกับชาวบ้านเป็นเชลยสงคราม ข้อมูลการแพทย์แผนไทยจึงถูกทำลาย

การรวบรวมตำราขึ้นมาใหม่ในยุคนั้น พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการให้ผู้ที่มีความรู้ ผู้ชำนาญการรักษาโรค ผู้ที่มีความรู้ด้านการปรุงยา หมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ และคนที่มีตำรายาให้นำมาช่วยกันรวบรวมข้อมูลเป็นตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถ โดยมีพระพงษ์อำมรินทรราชนิกูล พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นนายกองทำหน้าที่ในการคัดกรองและรวบรวม ต่อมาในปี พ.ศ. 2359 ได้มีการตั้งกฎหมายที่ชื่อว่า “กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย” ขึ้น โดยมีใจความว่า “ให้อำนาจพนักงานมีอำนาจออกไปค้นหาพระโอสถ คือ สมุนไพร ที่ปรากฏมีอยู่ในแผ่นดิน ผู้ใดจะคัดค้านมิได้ พนักงานพระโอสถจึงมีอำนาจในการค้นหายา และมักจะเป็นผู้ที่อยู่ในตระกูลสืบทอดกันมาเท่านั้น

ตำราทั้งหมดที่รวบรวมมาได้แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2355 มีการตรวจสอบข้อมูลเพื่อความถูกต้องอย่างละเอียด จากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบางส่วนให้จารึกลงบนหินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส บริเวณผนังด้านนอกของกำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดราชโอรสาราม จังหวัดกรุงเทพฯ หลังจากที่มีการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคครั้งรุนแรง

สมัยรัชกาลที่ 3 (พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว)

ในช่วงรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม มีการจัดตั้ง “โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดโพธิ์” ซึ่งถือว่าเป็นโรงเรียนแพทย์แผนไทยแห่งแรก เพื่อเป็นการช่วยเก็บรักษาตำรายาแพทย์แผนไทยที่กำลังจะสูญหายไปอันเนื่องมาจากแพทย์บางกลุ่มที่มีความรู้ก็หวงแหนวิชากลายเป็นความลับที่ตายไปกับกลุ่มคนเหล่านี้ บวกกับการแพทย์ตะวันตกแพร่เข้ามามากขึ้น คุ้นหูกันดีกับนายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ หรือ “หมอบรัดเลย์” แพทย์แผนตะวันตกเข้ามาช่วยรักษาโรคไข้จับสั่นด้วยยาควินิน และการปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ รวมไปถึงโรคอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งอาจจะทำให้ตำรายาไทยหายสาบสูญ ทำให้ชนรุ่นหลังไม่มีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าจากบรรพบุรุษที่สืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานจะเลือนหายไป

พระองค์จึงได้ทรงประกาศให้เหล่าผู้มีความรู้เกี่ยวกับตำรับยาแผนไทยที่มีความเชื่อถือได้และถูกต้องแม่นยำ นำความรู้เหล่านั้นมาจารึกเอาไว้บนหินประดับต่าง ๆ ตามผนังโบสถ์ เสา กำแพงวิหาร เจดีย์ ศาลาราย กำแพงวิหารคดรอบพระเจดีย์สี่องค์ รวมไปถึงศาลาต่าง ๆ ของวัดโพธิ์ที่ได้ทำการปฏิสังขรณ์เกี่ยวกับสมุฏฐานของโรคและวิธีบำบัดรักษาอาการนั้น ๆ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบำเรอราชแพทย์พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งเป็นแพทย์ประจำราชสำนัก ทำหน้าที่เป็นแม่กองจัดประชุมหมอหลวง ผู้ที่คอยบันทึกข้อมูลตำรายาแผนโบราณ สืบหาตำรายาที่ถูกต้องมาบันทึกข้อมูล ลักษณะอาการของโรคที่พบต่าง ๆ ไปจนถึงการแต่งตำรา โดยข้อมูลที่ได้จากผู้มีความรู้มีการเล่าว่าจะต้องให้สาบานว่า “ยาขนานนั้น ตนได้ใช้มาแล้วและไม่ปิดมีการปิดบังข้อมูล” จากนั้นพระยาบำเรอราชก็จะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องอีกรอบหนึ่งเพื่อความถูกต้องแม่นยำเสียก่อนที่จะทำการจารึกข้อมูล

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงให้นำเอาสมุนไพรที่หาได้ยากมาปลูกเอาไว้เพื่อใช้ในยามจำเป็นหรือขาดแคลน มีการปั้นรูปฤๅษีดัดตนในท่าทางที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้ประชาชนได้เข้ามาศึกษา เป็นตัวช่วยรักษาตัวเองเบื้องต้นสำหรับผู้ที่มีอาการปวดเมื่อยและช่วยเป็นตัวบำบัดโรคได้เป็นอย่างดี โรงเรียนแห่งนี้จึงเปรียบเสมือนแหล่งเรียนรู้ที่ไม่ว่าใครก็สามารถมาเอาความรู้ไปปรับใช้กับตนเองและใช้ในการรักษาผู้อื่นได้โดยไม่หวงแหน และกลายเป็นมหา’ลัยเปิดแห่งแรกของไทย

จารึกข้อมูลทางการแพทย์แผนไทยที่พระยาบำเรอราชทำการจารึกไว้ได้มีการจัดแบ่งออกเป็น 4 หมวดด้วยกัน คือ

  1. หมวดเวชศาสตร์ – จารึกข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคต่าง ๆ ตั้งแต่สมุฏฐานของโรคที่เกิดขึ้น มีการจารึกยาแผนไทยที่สามารถนำมาใช้แก้ไขโรคนั้น ๆ เอาไว้ ทั้งหมด 1,128 ขนาน
  2. หมวดหัตถศาสตร์ – เป็นหมวดที่เกี่ยวข้องกับการนวดแผนไทย มีการจารึกภาพโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ จุดเส้นต่างๆ บนร่างกายทั้งหมด 14 ภาพ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเกี่ยวข้องกับการนวดเพื่อช่วยแก้อาการปวดเมื่อย แก้เคล็ดขัดยอก ไปจนถึงการนวดเพื่อรักษาหรือบรรเทาโรคอื่น ๆ อีกจำนวนกว่า 60 ภาพ
  3. หมวดเภสัชศาสตร์ – จารึกที่กล่าวถึงความรู้เรื่องสมุนไพรแต่ละชนิด โดยเน้นไปที่สรรพคุณที่ใช้ในการรักษาและบำรุงร่างกาย ไม่เฉพาะแค่ยาสมุนไพรไทยเท่านั้น แต่ยังมีสมุนไพรต่างประเทศรวมอยู่ด้วย ในรายละเอียดมีการแบ่งส่วนของสมุนไพรที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์และวิธีการนำไปใช้ มีทั้งหมดด้วยกัน 113 ชนิด
  4. หมวดอนามัย – หรือการจารึกเรื่องราวเกี่ยวกับ “ฤๅษีดัดตน” ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ในการบริหารส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยและทำให้ผ่อนคลาย ทั้งแพทย์และชาวบ้านทั่วไปสามารถนำเอาความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการรักษาผู้อื่นและบรรเทาอาการของตัวเองได้ ในจารึกมีท่าต่าง ๆ 80 ท่าพร้อมคำอธิบายเกี่ยวกับประโยชน์ของท่านั้น ๆ เอาไว้ด้วย

อ้างอิงบทความจาก : หนังสือ 100 เหตุการณ์สำคัญ, medthai.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *