ฑูตพาณิชย์ปรับกลยุทธ์ส่งออกมุ่งเชิงรุก พลิกวิกฤตเป็นโอกาส สู้ไวรัสโควิด-19

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมผู้อํานวยการสํานักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์ทุกประเทศ) ว่า ได้เชิญทูตพาณิชย์ทั่วโลกมาหารือถึงสถานการณ์การส่งออกในปี 2563 ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องยอมรับความจริงว่านอกจากเศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มชะลอตัว สงครามการค้า รวมทั้งกรณีภัยแล้งที่เกิดขึ้นในประเทศและภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้สถานการณ์ทางการค้าระหว่างประเทศและการส่งออกมีแนวโน้มจะเปลี่ยนแปลงจากที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ปัญหาการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะยืดเยื้อไปมากน้อยแค่ไหน กระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ในเรื่องของการส่งออกให้สอดคล้องกัน เพื่อเพิ่มตัวเลขการส่งออกให้ได้ภายใต้ความร่วมมือของกระทรวง กับภาคเอกชน

สิ่งที่ต้องปรับคือกลยุทธ์ทางการตลาด ในการส่งออก โดยในส่วนของตลาดสินค้าบริการและแผนปฏิบัติการต้องมีรายละเอียดเชิงรุก กลยุทธ์เชิงรุกที่ชัดเจน สำหรับตลาดที่กำหนดไว้เดิม 18 ประเทศที่สรุปร่วมกับภาคเอกชนตั้งแต่ปลายปียังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่อาจปรับเรื่องเงื่อนเวลา ขึ้นอยู่กับความพร้อมของประเทศนั้น และปัญหาไวรัส- 19 เป็นหลักด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่

ด้านสินค้าและบริการในตลาดสำคัญ เช่น จีน สหรัฐ และอินเดีย สินค้าที่ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวได้ในสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ยังมีหลายตัว โดยเฉพาะในเรื่องอาหารสำเร็จรูป ข้าว ผลไม้รวมทั้งผลไม้แปรรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆเป็นต้น เช่น ตลาดจีนทางทูตพาณิชย์ รายงานว่าช่วงที่เกิดไวรัสโควิด-19 ข้าวของประเทศไทยมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นและเป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะตลาดฮ่องกงขยายตัว15 % ขณะที่อาหารสำเร็จรูปมีความต้องการสูงมากเพื่อทำอาหารรับประทานเองที่บ้านและเก็บสำรองไว้

ด้านตลาดสหรัฐนั้น สินค้าข้าวยังขยายตัวได้ดี รวมทั้งผลไม้แปรรูป เช่น สับปะรดแปรรูป รวมทั้งอาหารที่เป็นของขบเคี้ยวที่ดีต่อสุขภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่ตลาดสหรัฐโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่มีความต้องการสูงมาก ส่วนตลาดอินเดียยังมีโอกาสขยายตัวได้มาก คือ ชิ้นส่วนยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ พืชเกษตร เช่น แป้งมัน น้ำมันปาล์ม ไม้ยางพารา ผลไม้ เครื่องประดับ เครื่องสำอาง และร้านอาหารไทยยังเป็นภาคบริการที่ยังไปขยายตัวได้มากในอินเดีย

รวมทั้งตลาดตะวันออกกลาง ยูเออีเป็นตลาดเดิมที่เราต้องรักษาไว้เพื่อกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสินค้าฮาลาลของไทยได้รับการรับรองจากยูเออีอีกครั้งหนึ่งหลังจากหยุดไป2ปี ถือเป็นโอกาสสำคัญ โดยอาหารฮาลาลของไทยที่จะบุกไปตะวันออกกลางได้และเป็นที่ยอมรับมากขึ้น และสำนักงานทูตพาณิชย์จะประชาสัมพันธ์ให้ผู้นำเข้ารับทราบและจะรีบดำเนินการในการจับคู่ธุรกิจให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกได้พบกัน

ตลาดซาอุดิอาระเบียได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ประสานงานเพื่อหาลู่ทางในการที่จะกระชับความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองประเทศ จะนำภาคเอกชนเดินทางไปที่นั่นเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันต่อไปรวมทั้งบาห์เรน เป็นต้น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กลยุทธ์ที่จะนำมาใช้เพื่อทำมาตรการเชิงรุกในช่วงระยะเวลานี้คือใช้หลายรูปแบบผสมผสานกันทั้งในส่วนของการดำเนินการจัดงานแสดงสินค้าต่างๆ โดยเพิ่มความถี่ขึ้นหรือว่าปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสถานการณ์มากยิ่งขึ้นจากพบปะระหว่างผู้นำเข้าและผู้ส่งออก การจัดคณะไปเยี่ยมตลาดสำคัญ 18 ตลาด ในเบื้องต้นจะจัดลำดับความเหมาะสมใหม่ เน้นช่องทางการค้าออนไลน์มากขึ้นสำหรับบางประเทศ เช่นประเทศจีน เพื่อให้เป็นช่องทางระบายสินค้าที่สอดคล้องกับสถานการณ์เพราะคนไม่ค่อยออกจากบ้านยังสั่งสินค้าออนไลน์อยู่ และเน้นการประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจของศักยภาพสินค้าไทยในตลาดอ่อนไหว เช่น ตลาดสหรัฐ ตลาดสหภาพยุโรป ในอังกฤษ เป็นต้น เพื่อให้ทราบว่าสินค้าไทยแม้ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังมีคุณภาพและไม่มีผลกระทบ

” นี่เป็นเรื่องที่ทูตพาณิชย์แต่ละประเทศต้องเน้นการประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเร่งเปิดห้องไทยในแพลตฟอร์มใหญ่ใหญ่ระดับโลกเพิ่มเติมเช่น T-mall ในอาลีบาบา ห้องไทย Bigbasket.com ของอินเดียและตั้งเป้าว่าไม่กี่เดือนข้างหน้าจะเปิดห้องไทยใน Amazon.com และจะไปเปิดที่อเมซอนของญี่ปุ่นและ Presto ของมาเลเซียเป็นต้น จะเป็นช่องทางการจำหน่ายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากที่สุด” นายจุรินทร์ กล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *