History

พระบรมธาตุไชยา สโบราณสถานสกุลช่างศรีวิชัย

ประวัติการสร้างวัดพระบรมธาตุไชยาไม่ปรากฏหลักฐานปีที่สร้างแน่ชัด จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุเจดีย์สันนิษฐานว่าเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13 -18 พร้อมวัดเวียง วัดแก้ว วัดหลง ต่อมาวัดพระบรมธาตุไชยาร้างมาระยะหนึ่งจนพระครูโสภณเจสิการาม (หนู ติสโส) เป็นหัวหน้าชักชวนบรรดาเจ้าอาวาสวัดต่างๆบูรณะพระอารามแห่งนี้ใน พ.ศ.2439 – 2453

สิ่งก่อสร้างภายในวัดพระบรมธาตุไชยาที่สำคัญ ได้แก่

1. พระบรมธาตุเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดสถูป เรือนธาตุมีผังเป็นรูปกากบาท มีจัตุรมุขทั้ง 4 ยืนออกมาจากกลางด้านผนังเรือนธาตุ ด้านตะวันออกมีบันไดเข้าสู่โถงกลาง ความสูงจากฐานถึงเรือนยอดประมาณ 24 เมตร มีส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม ดังนี้

– ฐาน ฐานเป็นฐานเขียงซ้อนกัน 2 ชัน ต่อด้วยฐานบัวลูกแก้วผังจัตุรัสตกแต่งด้วยเสาติดผนังลดเหลี่ยม 1 ชั้น ขนาดฐานทิศเหนือถึงใต้ยาว 10 เมตร (ปัจจุบันทางวัดได้ทำการขุดบริเวณโดยรอบให้เห็นตัวฐานเดิมของโบราณสถาน) ส่วนบนของฐานบัวลูกแก้วเป็นลานประทักษิณ มีสถูปจำลองประดับที่มุมทั้ง 4 ด้าน

– เรือนธาตุเจดีย์ มีฐานบัวลูกแก้วรองรับเรือนธาตุอีก 1 ชั้น มุมเรือนธาตุทำเป็นเสาหลอกติดผนังตรงกลางเซาะร่อง มุขทางด้านตะวันออกมีบันไดทางขึ้นสามารถเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปภายในเจดีย์ ห้องภายในมีขนาด 2×2 เมตร ปัจจุบันมีมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูป 8 องค์ ผนังเรือนธาตุก่ออิฐไม่สอปูนลดหลั่นกันไปถึงยอด มุขอีกสามด้านทึบ มุมของมุขแต่ละด้านทำเป็นเสาติดผนัง เหนือมุขมีกุฑุหรือซุ้มหน้าบันประดับปูนปั้นรูปวงโค้งคล้ายเกือกม้า ด้านในกุฑุมีลายปูนปั้น รูปตราแผ่นสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเกิดจากการซ่อมแซมในสมัยหลัง

– ส่วนยอด เป็นหลังคาซ้อนกัน 3 ชั้น ประดับด้วยสถูปจำลองชั้นละ 8 องค์ ส่วนบนทำเป็นบัวปากระฆังรองรับองค์ระฆังรูป 8 เหลี่ยม บัลลังก์ 8 เหลี่ยม ปล้องไฉน 8 เหลี่ยมจำนวน 5 ชั้น บัวกลุ่มและปลียอดซึ่งเป็นการซ่อมแซมในสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ความสำคัญของพระบรมธาตุไชยา คือ จากรูปแบบของเจดีย์ สันนิษฐานว่าเป็นสถาปัตยกรรมรุ่นเดี่ยวกับโบราณสถานวัดเวียง วัดแก้วและวัดหลง ราวพุทธศตวรรษที่ 14 -15 ลักษณะทางสถาปัตยกรรมของพระบรมธาตุไชยาที่เห็นในปัจจุบันเป็นผลเนื่องมาจากการบูรณะในหลายสมัย

2. เจดีย์ทิศ ตั้งอยู่รอบพระบรมธาตุไชยาเจดีย์ทั้ง 4 ด้าน เจดีย์ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือเป็นเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม ชั้นล่างเป็นฐานบัวลูกแก้วทรงสูง ก่ออิฐฉาบปูนตำ รองรับฐานบัวลูกแก้วรองรับองค์ระฆังทรงกลม ส่วนยอดเป็นบัลลังก์ ปล้องไฉนและปลียอดสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยา ส่วนเจดีย์อีก 3 องค์ทรงกลมทรงลังกา ตั้งอยู่บนฐานเขียงกลม รองรับมาลัยลูกแก้ว 8 แถว องค์ระฆังทรงกลมอยู่บนปากบัวระฆัง ส่วนยอดไม่มีบัลลังก์ มีก้านฉัตรและปล้งไฉนและปลียอดสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์

3. พระวิหารหลวง อยู่ทางทิศตะวันออกของพระบรมธาตุไชยา ด้านหลังวิหารสร้างยื่นล้ำเข้ามาในเขตพระวิหารคด ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา สกุลช่างไชยา

4. พระอุโบสถ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของพระบรมธาตุไชยา สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2498 แทนอุโบสถหลังเก่าที่รื้ออกไป พระประธานภายในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดง ปางมารวิชัยศิลปะสมัยอยุธยา เบื้องหน้าพระประธานประดิษฐานพัทธสีมาคู่ซึ่งของเดิมเป็นของพระอุโบสถเก่า สมัยอยุธยา

5. ระเบียงคด วิหารคด หรือพระระเบียง เป็นระเบียงล้อมรอบองค์พระธาตุอยู่ในผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างยาวด้านละ 38 เมตร สูง 4 เมตร สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆรวม 180 ปาง ชาวบ้านเรียกพระเวียน

6. พระพุทธรูปกลางแจ้ง ประดิษฐานอยู่ในกำแพงแก้ว ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของวิหารหลวง เป็นพระพุทธรูปศิลาทรายแดงขนาดใหญ่ 3 องค์ ศิลปะอยุธยา สกุลช่าง ไชยา

นอกจากนี้ยังมีโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบภายในวัด ได้แก่ พระโพธิสัตว์อวโลติเกศวรสำริด 2 กร พบบริเวณสนามหญ้าทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระบรมธาตุไชยา อยู่ใต้ต้นโพธิ์ ศิลปะคล้ายประติมากรรมของชวาภาคกลาง กำหนดอายุอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 14,พระโพธิสัตว์อวโลติเกศวรสำริด 8 กร กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 14, พระโพธิสัตว์อวโลติเกศวรศิลา 2 กร ศิลปะจาม กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 15,พระพุทธรูปศิลาและปูนปั้น อิทธิพลศิลปะอินเดียสมัยคุปตะและศิลปะทวารวดี, พระพทธรูปศิลาทรายแดงและปูนปั้นศิลปะสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ ,ฐานโยนี เป็นต้น (นงคราญ ศรีชาย,2544,150-159)

ในส่วนด้านข้างตัว มีวัดมีพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยาซึ่งเป็นที่เก็บรักษารวบรวมศิลปะโบราณวัตถุในเมืองไชยาให้ประชาชนเข้าเยี่ยมชมและศึกษา

สรุปความสำคัญของวัดพระบรมธาตุไชยา จากหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่า มีการใช้พื้นที่ตั้งแต่ช่วงพุทธศตวรรษที่ 14 -15 และมีการเข้ามาใช้พื้นที่อีกครั้งในสมัยสุโขทัยถึงอยุธยาช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 -22 และมีการบูรณะปฎิสังขรณ์ครั้งใหญ่อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วง พ.ศ.2439 – 2453โดยพระครูโสภณเจสิการาม (หนู ติสโส) ปัจจุบัน วัดพระบรมธาตุไชยา เป็นสถานที่ศักสิทธิ์คู่จังหวัดสุราษฎร์ธานีและกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *