พ.ศ. 2303 วีรกรรมหน่วยอาทฆาต กองรบรากหญ้า 400 คน เป็นต้นแบบค่ายบางระจัน
ที่อำเภอวิเศษไชยชาญ จังหวัดอ่างทอง มีวัดแห่งหนึ่ง ชื่อว่า วัดสี่ร้อย ซึ่งชื่อของวัดนี้ มีที่มาจากวีรกรรมของกองอาสาอาทฆาต จากวิเศษไชยชาญ จำนวน 400 นาย ที่ปักหลักสู้กับทหารพม่านับหมื่นนาย ที่อ่าวหว้าขาว จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในศึกอลองพญา สมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ก่อนการเสียกรุงครั้งที่สองราว 7 ปี เหตุเพราะพม่ายกพลสองหมื่น ยึดเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด อันเมืองท่าที่สำคัญของอยุธยา
ทางเราได้ส่งออกญายมราชยกไปป้องกันเมืองตะนาวศรี ออกญารัตนาธิเบศร์ ยกไปป้องกันเมืองมะริด โดยในครั้งนั้น ขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษไชยชาญ ได้รวบรวมเหล่าอาสากองอาทฆาต จำนวน 400 นาย ยกมาเพื่อร่วมทัพกรุงด้วย
ขุนรองปลัดชูนำกองอาสาอาทฆาต ทั้ง 400 นาย ไปขัดตาทัพพม่าที่อ่าวหว้าขาว ถ่วงเวลาไว้เพื่อทัพกรุงได้หนีทันกองอาสาทั้ง 400 นาย ต่อสู้จนตัวตายบนหาดในอ่าวนั้นจนหมดสิ้น วีรกรรมที่กล้าหาญนี้ เวลาต่อมาอีกไม่กี่ปีชาวบ้านจากเมืองวิเศษไชยชาญรุ่นลูก ก็ได้ตามรอยรวมกำลังกับชาวเมืองสิงห์สร้างวีรกรรมที่บางระจันอันลือลั่น ในประวัติศาสตร์ของไทยอีกครั้ง
แม้ไม่ดังเท่าชาวสปาร์ตา 300 คน สู้ทัพเปอร์เชียที่เทอร์มอพิลี เพราะไทยรักไทยแท้ แม้มีก็ไม่มากนัก แต่มันคือรอยสักในสำนึกรักที่หากจางไป สักวันสยามเราก็จะเป็นเช่นชาวโรฮิงญาแน่ๆ
ยุคสมัยกรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง กองอาทฆาต ซึ่งเรืองอาคมเช่นนี้เคยโด่งดังมาแล้ว ในอดีตอาทฆาตเคลื่อนที่เร็วเชี่ยวชาญในการรบบนหลังม้า และพิชัยสงคราม มีวิชาอาคม เป็นหน่วยนำหน้ากองทัพ เป็นองครักษ์และจตุลังคบาท ที่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดิน เรื่องอาคม เช่นนี้ก็เคยโด่งดังมาแล้วในฝรั่งเศส
ในแผ่นดิน สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 23 กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งเจ้าพระยาโกษาปาน เป็นทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี กับมหาอำนาจฝรั่งเศส และได้จัดแสดงความคงกระพันชาตรี ของหน่วยทหาร กองอาทฆาต จำนวน 100 นาย ที่ฝรั่งเศสรู้เพียงว่าเพียงว่าเป็นกะลาสีเรือทั่วไปเท่านั้น ครั้งนั้นเจ้าพระยาโกษาปาน จัดให้เข้าไปนั่งรวมกลุ่มในวงล้อมสายสิญจน์ โดยให้สัญญาณพลแม่ปืน 200 นายของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ซึ่งยืนถือปืนห่างออกไปราว 20 วา ระดมยิงใส่
พงศาวดารว่า “เสียงปืน 200 กระบอกดังสนั่นหน้าพระที่นั่ง ควันปืนอบอวลคลุ้งกระจาย ลูกกระสุนปืนทั้ง 200 นัด มิได้ระคายแม้ชายเสื้อทหารสยามทั้งหลาย เป็นที่อัศจรรย์”
บทความจาก : หนังสือ 100 เหตุการณ์สำคัญเปลี่ยนแปลงสยามประเทศ