auto car

รถมีแต่ลด…คิดให้ดีก่อนตัดสินใจซื้อ

ปัจจุบันเราสามารถเป็นเจ้าของรถได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องรอเก็บเงินก้อนก็สามารถซื้อรถให้ตัวเองได้ด้วยการขอสินเชื่อ ทำให้หลายคนเมื่อเรียนจบทำงานมาได้สักระยะหนึ่ง ก็เริ่มวางแผนจะผ่อนรถทันที ด้วยคิดว่าเงินเดือนที่ตัวเองมีน่าจะส่งไหว โดยเฉพาะเมื่อเจอโปรโมชั่นที่กระตุ้นให้เกิดความอยากซื้อ เช่น วางเงินดาวน์ต่ำ หรือไม่ต้องวางเงินดารน์เลยก็สามารถเอารถไปขับก่อนได้ แล้วให้ผ่อนกันได้นานๆ ซึ่งดูแล้วอาจจะเป็นเรื่องดี เพราะไม่ต้องมีเงินดาวน์ก้อนโต ก็ถอยรถมาขับได้สบายๆ แต่ก็เหมือนเป็นการเข้าข้างตัวเองว่า จะผ่อนจ่ายไหวตลอดระยะเวลาผ่อน

เพราะรถเราที่ตัดสินใจซื้อมา ก็คือ รายจ่ายที่เพิ่มขึ้น เป็นการลดโอกาสในการลงทุนเพื่อเป้าหมายเกษียณในอนาคตของตัวเรา เพราะเมื่อมีรถแล้ว ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาที่ทำให้ผู้ใช้รถต้องควักเงินในกระเป๋าจ่ายออกไปอย่างสม่ำเสมอ จึงมีคำกล่าวที่หลายๆ คน คงเคยได้ยินอย่างคุ้นหูว่า “ซื้อรถ มีแต่ลด” ซึ่งไม่เพียงมูลค่ารถที่ลดลงเท่านั้น เงินในกระเป๋าของเราก็ลดลงด้วย

การตัดสินใจซื้อรถสักคันหนึ่ง จึงควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบ และที่จำเป็นที่สุดก็คือ การพิจารณาถึงเหมาะสมกับความจำเป็นของการมีรถไว้ใช้งานสักคัน ดังนั้น ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อรถ ลองถามตัวเองว่าจำเป็นหรือไม่ด้วยคำถามง่ายๆ 5 ข้อ ดังนี้

ข้อ 1 อยู่ตัวคนเดียวหรือมีครอบครัว

เพราะการมีครอบครัวต้องดูแลมีความจำเป็นในการซื้อรถยนต์มากกว่าการอยู่คนเดียว โดยเฉพาะผู้ที่มีภาระต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ คู่สมรส หรือบุตร ดังนั้น การมีรถจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ไปเที่ยวร่วมกัน พาลูกไปโรงเรียนพาพ่อแม่ไปโรงพยาบาล เป็นต้น ส่วนในกรณีของคนโสดนั้น ความจำเป็นของการใช้รถน้อยลง เมื่อเทียวกับคนที่มีครอบครัวแล้ว เนื่องจากคนโสดสามารถเดินทางโดยใช้ระบบขนส่งมวลชนได้สะดวก นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายต่อหัวสำหรับการใช้รถของคนโสดจะสูงกว่าค่าใช้จ่ายของผู้ที่มีครอบครัวอีกด้วย

Image by Q K from Pixabay

ข้อ 2 ที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ที่มีระบบขนส่งมวลชนทั่วถึงหรือไม่

หากสถานที่ทำงานอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถเดินทางไปทำงานด้วยรถไฟฟ้า ความจำเป็นในการใช้รถจะน้อยลงไปมาก เนื่องจากการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าช่วยให้เราสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และเสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่หากสถานที่ทำงานอยู่ในเขตกรุงเทพฯรอบนอก หรือต่างจังหวัด รถยนต์จะเป็นพาหนะที่มีความจำเป็น เนื่องจากรถยนต์จะช่วยให้การเดินทางเป็นอย่างปลอดภัยและเพิ่มความสะดวกได้มากขึ้น หรือถ้าใครที่มีค่าเดินทางไปทำงานสูง เพราะต้องนั่งรถสาธารณะหลายต่อ ถ้าตื่นเช้า หรือออกสาย ก็ต้องเสียเงินนั่งแท็กซี่ และคำนวณแล้วการมีรถส่วนตัว ไม่ได้ทำให้ค่าเดินทางเพิ่มขึ้นมากนัก แบบนี้การซื้อรถก็อาจจะเหมาะสม โดยถ้าหากทำงานในเมือง ก็ควรเลือกรถที่ประหยัดน้ำมันเพื่อเป็นการประหยัดเงินในกระเป๋า

ข้อ 3 มีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือนเพียงพอ สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการซื้อรถหรือไม่

ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นหลังจากการซื้อรถมีมากมาย โดยแบ่งได้เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ดังนี้

1.ค่าใช้จ่ายประจำปีของรถ ได้แก่ ค่า พ.ร.บ. ค่าประกันภัยรถ ค่าภาษี และสำหรับรถที่มีอายุการใช้งานนานตามที่กฎหมายกำหนดจะมีค่าตรวจสภาพรถที่เพิ่มเข้ามาด้วย เหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถลดได้ อาจมีรายการที่ลดได้คือ ค่าประกันภัยรถ แต่ก็ต้องแลกกับความเสี่ยงจากการใช้รถที่เพิ่มขึ้น เพราะหากเกิดอุบัติเหตุโดยเราเป็นฝ่ายผิด อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายที่ตามมามากกว่าค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่าย

2.ค่าใช้จ่ายประจำตลอดการใช้รถ ได้แก่ ค่าน้ำมัน ค่าทางด่วน ค่าที่จอดรถ ค่าทำความสะอาดรถ ค่าบำรุงซ่อมแซม หรือค่าอุปกรณ์เครื่องยนต์ต่างๆ ที่ต้องเปลี่ยนไปตามอายุการใช้งาน

ค่าใช้จ่ายจากการใช้รถ

รายการ                                                  ค่าใช้จ่าย

1.ค่าประกัน พ.ร.บ.                               650-1,200 บาท/ปี

2.ค่าต่อทะเบียน                                    1,600-9,000 บาท/ปี

3.ค่าประกันภัยชั้น 1                             14,000-30,000 บาท/ปี

4.ค่าประกันภัยชั้น 2, 2+                      6,000-17,000 บาท/ปี

5.ค่าประกันภัยชั้น 3, 3+                      2,200-6,800 บาท/ปี

6.ค่าบำรุงรักษา                                    10,000-30,000 บาท/ปี

7.ค่าที่จอดรถ                                         1,500-3,000 บาท/เดือน

8.ค่าเชื้อเพลิง                                        2,000-5,000 บาท/เดือน

9.ค่าทางด่วน                                         2,000-4,000 บาท/เดือน

10.ค่าล้างรถ                                          500-1,000 บาท/เดือน

จะเห็นได้ว่า การเป็นเจ้าของรถสักคันหนึ่ง นอกจากจะซื้อด้วยเงินจำนวนมากแล้ว ยังต้องเตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมีโอกาสสูงถึงหลักหมื่นต่อเดือนเลยทีเดียว ดังนั้น ก่อนที่จะซื้อรถ ขอแนะนำให้คำนวณก่อนว่า ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อซื้อรถเป็นเงินมากน้อยแค่ไหน และเงินที่เหลือเก็บในแต่ละเดือนสามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้หรือไม่ หากคำนวณแล้วพบว่า เงินที่เหลือเก็บในแต่ละเดือนไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ขอให้กลับมาคิดทบทวนอีกครั้งว่า จำเป็นที่จะต้องซื้อรถหรือไม่ หากยังคงต้องซื้อรถ ขอแนะนำให้ปรับลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง หรือหารายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่มาพร้อมกับการซื้อรถ

ข้อ 4 อาชีพที่ทำอยู่จำเป็นต้องใช้รถยนต์หรือไม่

หากมีอาชีพที่จำเป็นต้องเดินทางตลอดเวลา หรือต้องติดต่อกับผู้คนนอกสถานที่ เช่น เซลล์แมน ผู้รับเหมาก่อสร้าง วิศวกร ผู้บริหาร ก็จำเป็นต้องมีรถยนต์ เพื่อช่วยให้เราสามารถประสบความสำเร็จจากการทำงานได้ง่ายขึ้น โดยควรเลือกรถให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น ทำงานขนส่งสินค้า หรือค้าขาย ก็ควรพิจารณาความแข็งแรงทนทานของรถยนต์เป็นหลัก เพื่อให้มีอายุการใช้งานได้นาน แต่ถ้าอาชีพที่เราทำเป็นอาชีพที่อยู่ออฟฟิศเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้เดินทางไปไหนมาไหนมากนัก ความจำเป็นในการมีรถยนต์ก็ลดน้อยลง

ข้อ 5 มีที่จอดรถหรือไม่

นับเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาว่ามีที่จอดรถที่บ้านและที่ทำงานหรือไม่ สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียม หรือห้องเช่า การพิจารณาถึงที่จอดรถเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากเมื่อซื้อรถมาแล้ว อาจประสบปัญหาไม่มีที่จอดรถได้ นอกจากนี้ สำหรับผู้ที่ขับรถไปทำงาน การตรวจสอบว่า บริเวณสถานที่ทำงานมีที่จอดรถหรือไม่เป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกัน รวมทั้งอย่าลืมพิจารณาถึงค่าใช้จ่ายในการจอดรถว่ามากน้อยแค่ไหนอีกด้วย

เมื่อตอบคำถามทั้ง 5 ข้อนี้แล้ว คงตัดสินใจได้ว่า ควรซื้อรถหรือไม่?

ที่มาจาก : หนังสือ “เก็บสบายใช้สนุก สุข เกษียณ” ผู้เขียนคุณนิชฌานี ฉันทศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนการเงิน จากสถาบันการเงินชั้นนำ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *