เหตุผลที่ “โคราช” เหมาะสมเป็น “เมืองหลวงใหม่” ของไทย มากที่สุด
หลายปีที่ผ่านมา เคยมีการเปิดสนทนาในประเด็น “การย้ายเมืองหลวง” ตามที่นักวิทยาศาสตร์อย่างเช่น ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา หรือ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ให้ข้อเสนอแนะผ่านสื่อไว้หลายครั้งแล้ว ในตอนนั้น อาจดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว เพราะยังถือว่าเป็นเพียงคาดการณ์เท่านั้นเอง แต่หลังมีผลวิจัยว่าในขณะนี้กรุงเทพฯ ทรุดลงปีละ 15 มม. และระดับน้ำในอ่าวไทยเพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ เพิ่มสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกถึง 2 เท่า อีกทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างจังหวัดสมุทรปราการ มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่ค่อนข้างมาก เป็นตัวการทำให้เกิดแผ่นดินทรุด (Land Subsidence) ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงขึ้น หากไม่คิดการขยับขยายอย่างหนึ่ง อย่างใดในอีก 25 ปีข้างหน้า กรุงเทพฯ อาจจมน้ำ
ทั้งนี้ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา หรือ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช เห็นพ้องว่า จังหวัดนครราชสีมา มีศักยภาพที่จะเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ได้ เพราะพื้นที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล และที่ตั้งอยู่ใจกลางของประเทศ ไม่มีผลกระทบจากแผ่นเดินไหว หรือน้ำท่วมหนัก เหนือสิ่งอื่นใด โคราช เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่มากที่สุด เป็นที่ราบสูง ภูมิอากาศค่อนข้างดี มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ ค่อนข้างพร้อม
หากรัฐบาลเห็นว่าเหมาะสม ควรเร่งจัดสรรงบ วางผังเมืองใหม่แบ่งโซนอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม การท่องเที่ยว ที่อยู่อาศัยให้ชัดเจน วางระบบโลจิสติกส์ให้ดี ต่อไปหากมีรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-โคราช จะใช้เวลาเดินทางเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น ดังนั้นโคราชมีความเหมาะสมที่จะเป็นเมืองเศรษฐกิจใหม่ รวมทั้งเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ ที่รองรับการเติบโตของประเทศในอนาคต”
ในอดีต โคราช หรือนครราชสีมา ได้ชื่อว่าเป็นเมืองทางผ่าน แต่จากนี้ไป มุมมองใหม่จะเกิดขึ้น เพราะถนนทุกสาย จะมุ่งสู่โคราช ทั้งรถไฟทางคู่ ช่วง จิระ-ขอนแก่น ,ทางด่วนบางปะอิน – นครราชสีมา ,รถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ,รถไฟฟ้ารางเบา และยังมีสนามบินพาณิชย์ ที่สร้างไว้นอกเมือง เหมือนเป็นการเตรียมการไว้เผื่ออนาคต