เอกชนแห่ประมูลคลื่น 5 G กสทช.คาดยอดทะลุ 7 หมื่นล้าน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันที่ 4 ก.พ. มีผู้มายื่นคำขอรับใบอนุญาตคลื่นความถี่ 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz จำนวน 5 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ยื่นเอกสารเป็นรายแรกในเวลา 11.00 น. จากนั้นบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นเอกสารเป็นรายที่สองในเวลา 11.09 น. ตามด้วยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ยื่นเป็นรายที่สามในเวลา 12.59 น. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ยื่นเป็นรายที่สี่ในเวลา 15.15 น. และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ยื่นเป็นรายสุดท้ายในเวลา 15.35 น.

ทั้งนี้คาดจะสามารถได้รับเงินจากการเปิดประมูลคลื่นความถี่ ครั้งนี้ เป็นมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท จาก 30 ใบอนุญาต เพิ่มขึ้นจากเดิมได้รับเงิน 5 หมื่นล้านบาท จาก 24-25 ใบอนุญาต ซึ่งการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จะออกประมูลได้หมด ส่วนคลื่นความถี่ 26 GHz คาดจะมีการประมูลมากกว่า 4-5 ใบอนุญาต

ส่วนคลื่นความถี่ 1800 MHz อาจไม่มีรายใดเข้าประมูล เนื่องจากราคาเริ่มต้นอยู่ในระดับสูง ซึ่งกสทช.ปรับลดราคาไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเอื้อเอกชน จนถูกฟ้องร้องได้ ดังนั้นหากไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวในรอบนี้ จะนำมาประมูลรอบใหม่พร้อมกับคลื่น 3400 MHz โดยจะทบทวนราคาตลาดใหม่ ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นเพื่อหาราคาที่เหมาะสมต่อไป

สำหรับคลื่นความถี่ที่นำออกมาประมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วย คลื่น 700 MHz จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 10 งวด งวดละ 10% โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 2,637.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,319 ล้านบาทต่อใบอนุญาต

คลื่น 1800 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 25 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 3 งวด งวดที่ 1 จำนวน 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 และ 3 จำนวนงวดละ 25% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 4,994.4 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 1,873 ล้านบาท ต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 40% ของประชากร ภายใน 4 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรภายใน 8 ปี

คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท การชำระเงินแบ่งเป็น 7 งวด งวดที่ 1 จำนวน 10% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2-7 (ปีที่5-10) งวดละ 15% ของราคาที่ชนะการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 1,862 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 280 ล้านบาท ต่อใบอนุญาต โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องขยายโครงข่ายให้ครอบคลุม 50% ในพื้นที่โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ภายใน 1 ปี และครอบคลุม 50% ของประชากรใน Smart city ภายใน 4 ปี

คลื่น 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท การชำระเงินงวดเดียวภายใน 1 ปีหลังจากการประมูล โดยผู้เข้าร่วมประมูลต้องวางหลักประกัน 507.6 ล้านบาท และหากไม่ชำระค่าประมูล จะต้องชำระค่าปรับ 64 ล้านบาทต่อใบอนุญาตขั้นตอนหลังจากยื่นคำขอรับใบอนุญาตแล้ว สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการพิจารณาคุณสมบัติ และจะมีการชี้แจงรายละเอียดและการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) ในวันที่ 10 และ 14 ก.พ. 2563 โดยจะจัดการประมูลในวันที่ 16 ก.พ. 2563

นายฐากร กล่าวว่า กระบวนการหลังจากเปิดรับการยื่นเอกสารประมูล 5Gแล้ว ในวันที่ 12 ก.พ.นี้ จะประกาศรายละเอียดผู้เข้าร่วมประมูล มีการประมูลคลื่นความถี่ใดบ้าง โดยคณะกรรมการกสทช.จะพิจารณาผลการตรวจคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล และแจ้งความจำนงประมูลคลื่นใด ขณะที่ในวันที่ 16 ก.พ.นี้จะเคาะราคาในแต่ละคลื่น และจะมีการรัรบรองผลการประมูล ในวันที่ 19 ก.พ.นี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *