Health

ชะลอผิวเสื่อมสภาพก่อนวัย ด้วยงานวิจัยสวยใสระดับเซลล์

ความงามของผิวพรรณ ย่อมเป็นที่ต้องการของทุกคน ในยุคที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย รวมถึงแสงแดดและมลพิษเพิ่มขึ้น กลายเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ผิวเกิดริ้วรอยก่อนวัย สีผิวคล้ำและไม่สม่ำเสมอ จนทำให้มูลค่าทางการตลาดของผลิตภัณฑ์เวชสำอางเพิ่มขึ้นทุกปี จึงเป็นแรงกระตุ้นให้นักวิจัยไทยได้ทำการศึกษาจนค้นพบกลไกชะลอผิวเสื่อมสภาพก่อนวัย ที่สามารถช่วยฟื้นคืนสุขภาพของผิวสวยในระดับโมเลกุลจากพืชผักผลไม้ที่ปลูกในเมืองไทย มุ่งสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ปกป้องความงามจากแสงแดดที่มีประสิทธิภาพสูงและมีความเฉพาะเจาะจงในกลไกระดับเซลล์ พร้อมส่งต่องานวิจัยให้ภาคธุรกิจนำไปผลิตต่อในราคาที่สามารถจับต้องได้

รศ.ดร.พญ.อุไรวรรณ พานิช

รศ.ดร.พญ.อุไรวรรณ พานิช หัวหน้าภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นักวิจัยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หัวหน้าโครงการวิจัย “บทบาทของสารต้านออกซิเดชั่นจากธรรมชาติสู่การพัฒนาสารยับยั้งความเสื่อมสภาพของผิวหนัง” ระบุว่า ความเสื่อมสภาพก่อนวัยนั้นเป็นปัญหาและความท้าทายทางสาธารณสุขที่สำคัญของโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะ “ผิวหนัง” ซึ่งเป็นด่านแรกของร่างกายที่ต้องสัมผัสกับมลพิษ และ “รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Radiation: UV) จากแสงแดด” เนื่องจากรังสี UV สามารถกระตุ้นเอนไซม์ที่ทำลายคอลลาเจน และกระตุ้นการเพิ่มขึ้นของ “เมลานิน” ในชั้นผิวหนัง การที่ผิวหนังได้รับรังสี UV ในระยะเวลานานโดยไม่ป้องกันเป็นสาเหตุหลักของการเสื่อมสภาพก่อนวัยของผิวหนัง (Photoaging) ซึ่งมีลักษณะเป็นริ้วรอยที่เหี่ยวย่นก่อนวัยและสีผิวที่เข้มขึ้นและไม่สม่ำเสมอ

“จากงานวิจัย เราได้พบบทบาทของรังสีอัลตราไวโอเลตที่ทำให้เกิดความเสื่อมสภาพของผิว หรือสภาวะ “Photoaging” ผ่านกลไกที่ทำให้เกิดภาวะเครียดออกซิเดชัน (Oxidative stress) ซึ่งเป็นภาวะเสียสมดุลระหว่างการผลิตสารอนุมูลอิสระที่มากเกินไปและการลดประสิทธิภาพของระบบต้านออกซิเดชัน (Antioxidant defense system) โดยระบบต้านออกซิเดชันถูกควบคุมด้วยการทำงานของโปรตีนชนิด Nuclear factor erythroid 2-related factor 2 (Nrf2) ที่ควบคุมการถอดรหัสของยีนที่ใช้สร้างเอนไซม์ต้านออกซิเดชัน งานวิจัยนี้พบว่ารังสี UV สามารถลดการทำงานของโปรตีน Nrf2 ส่งผลให้ระบบต้านออกซิเดชันของเซลล์ผิวหนังสูญเสียสมดุล และนำไปสู่การเสื่อมสภาพก่อนวัย ทีมวิจัยจึงคิดค้นกลไลกระตุ้นระบบดังกล่าวให้กลับมาอยู่ในภาวะสมดุล โดยพบว่าสารพฤกษเคมี (Phytochemical) หลายชนิด รวมทั้งสาร “ซัลโฟราเฟน (Sulforaphane)” ที่พบในพืชผักตระกูลกะหล่ำรวมทั้งบรอกโคลี ซึ่งสารดังกล่าวมีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของ Nrf2 ส่งผลเพิ่มประสิทธิภาพของระบบต้านออกซิเดชันระดับโมเลกุลทำให้เกิดภาวะสมดุลในเซลล์ผิวหนัง ซึ่งสามารถยับยั้งการเสื่อมสภาพของผิวหนังทั้งการชะลอริ้วรอยและปรับการผลิตเม็ดสีให้มีความสมดุลจากภายในเซลล์ โดยมีหลักฐานการศึกษาทั้งในเซลล์ผิวหนังเพาะเลี้ยงและในสัตว์ทดลอง และในขณะนี้ทางทีมวิจัยกำลังวางแผนที่จะดำเนินการศึกษาในอาสาสมัครต่อไป ซึ่งนอกจากสารซัลโฟราเฟนที่พบในผักตระกูลกะหล่ำแล้ว สารพฤกษเคมีที่มีฤทธิ์กระตุ้น Nrf2 ยังพบได้ในพืชผักผลไม้อีกหลายชนิดที่ปลูกในประเทศไทย เช่น ถั่วงอก ขิง ขมิ้นชัน หรือในเปลือกแอปเปิล เป็นต้น” รศ.ดร.พญ.อุไรวรรณ กล่าว

สารพฤกษเคมีที่ค้นพบในพืชผักผลไม้เหล่านี้สามารถทำงานได้ในระดับโมเลกุล จึงนำไปสู่แนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ป้องกันอันตรายจากแสงแดด (Photoprotective agents) หรือสารยับยั้งความเสื่อมสภาพของผิวหนังที่ออกฤทธิ์ได้อย่างเจาะจงระดับโมเลกุล โดยกำลังดำเนินการร่วมกันผู้เชี่ยวชาญหลายสาขาเพื่อพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัย ซึ่ง รศ.ดร.พญ.อุไรวรรณ กล่าวว่า “การที่เรามีผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขามาช่วยกันคิดค้นและวิจัยเป็นทีม เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้ออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยต่อผู้บริโภค เพราะส่วนตัวไม่ต้องการให้งานวิจัยถูกมองเป็นของขึ้นหิ้ง แต่อยากนำองค์ความรู้มาต่อยอดให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ได้จริง และยินดีที่จะถ่ายทอดสู่ภาคเอกชนที่สนใจต่อไป”

งานวิจัยนี้นอกจากจะเป็นการสร้างหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ พืชผัก และสมุนไพรไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลแล้ว ยังเป็นก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ให้ประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การวิจัยต่อยอดในการพัฒนาสารจากธรรมชาติซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีศักยภาพของประเทศไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์ยับยั้งความเสื่อมของผิวหนังที่มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยได้ทัดเทียมกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศที่มีราคาแพง ทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายของประเทศที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ส่งเสริมสุขภาพด้านการชะลอวัย และช่วยเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์แปรรูปจากธรรมของประเทศไทยอีกด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *