ทำไม? เชียงใหม่ ค่าฝุ่น PM 2.5 จึงพุ่งทะยานสูงขึ้นเป็นอันดับ 1

photo: https://www.trendsmap.com/twitter/tweet/1111806368523026432

ทุกภาคของประเทศไทยมักประสบกับปัญหามลพิษทางอากาศทั้งสิ้น เพียงแต่อาจจะมากหรือน้อยไม่เท่ากัน และสาเหตุของการเกิดมลพิษทางอากาศก็แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ สำหรับจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนที่ประสบปัญหาหมอกควันซ้ำซาก ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา และตาก

ซึ่งที่จริงพื้นที่ภาคเหนือตอนบนประสบกับปัญหาหมอกควันมานานแล้ว เพียงแต่ในอดีตอาจจะไม่เด่นชัดนัก เนื่องจากไม่มีข้อมูลเพียงพอ แต่ที่เริ่มพบว่าเป็นปัญหาอย่างชัดเจนและรุนแรงเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 10 กว่าปีก่อน คือตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา นอกจากนี้ปัญหาฝุ่นควันและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในเชียงใหม่ยังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยพบว่ายอดการจองห้องพักล่วงหน้าของโรงแรมในช่วงสงกรานต์ 2550 อยู่ที่ 50%

และแนวโน้มความรุนแรงของปัญหาฝุ่นควันเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2555 โดย นายแพทย์พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีปัญหาฝุ่นควันในภาคเหนือ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพและอาจเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุทางจราจรได้ จากรายงานสถานการณ์ปัญหาฝุ่นควันด้านการแพทย์และสาธารณสุขใน 8 จังหวัดข้างต้นตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 18 กุมภาพันธ์ พบว่ามีผู้ป่วยจากปัญหาฝุ่นควันหลายกลุ่มโรค เช่น กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด และกลุ่มโรคตาอักเสบ

กรมควบคุมมลพิษรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในภาคเหนือ วันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2555 พบว่ามี 8 จังหวัด ที่มีปัญหาฝุ่นควันเกินค่ามาตรฐานคือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน แม่ฮ่องสอน และพะเยา โดยเฉพาะที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย วัดค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กได้สูงถึง 307 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จัดอยู่ในขั้นอันตรายต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงรายยังถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควัน เป็นผลมาจากไฟป่าในหลายจุด ทั้งป่าตามเส้นทางสายเชียงราย-เชียงใหม่ ทำให้ทัศนวิสัยเหลือเพียง 2 กิโลเมตร ขณะที่คุณภาพอากาศเกินค่ามาตรฐาน โดยในอำเภอเมืองวัดได้ 216 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

โดยในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2555 สถานการณ์ของค่าฝุ่นละอองที่จังหวัดเชียงใหม่มีค่าเกิดมาตรฐานส่งผลให้นายแพทย์รังสฤษฐ์ กาญจนวณิชย์ ได้ร่วมกับประชาชนราว 100 คน ถือแผ่นป้ายออกเดินรณรงค์เรียกร้องให้ภาครัฐดำเนินการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันไฟป่าอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ทั้งนี้ ปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมักจะเกิดขึ้นในฤดูแล้งของทุกปี แต่มีความรุนแรงและยาวนานขึ้นเรื่อย ๆ จากเมื่อสิบกว่าปีก่อนมีปัญหาปีละ 2-3 เดือน แต่ปัจจุบันมีปัญหาปีละ 4-5 เดือน ซึ่งอาจจะรุนแรงและยาวนานขึ้นกว่านี้หากไม่ได้รับการเยียวยาแก้ไขอย่างถูกต้อง

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนคือ

  1. การเผาในที่โล่งแจ้ง เช่น การเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรในที่ราบและที่ดอน การเผาขยะ การเผาพื้นที่ไร่หมุนเวียนในที่สูงเพื่อเตรียมการเพาะปลูก การเผาป่า เป็นต้น
  2. สภาพภูมิประเทศ เช่น ตัวเมืองเชียงใหม่ที่มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ฯลฯ
  3. สภาพภูมิอากาศและอุตุนิยมวิทยา
  4. หมอกควันข้ามแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเพราะมีการเผาป่าและเตรียมการเกษตรมากขึ้น ได้แก่ สาธารณรัฐเมียนม่าร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม

การป้องกันตนเองจากปัญหาหมอกควัน

  1. ต้องติดตามคุณภาพอากาศในท้องที่ที่ตนเองอยู่อาศัยอย่างสม่ำเสมอ ถ้าอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ให้ติดตามที่ cmaqhi.org ซึ่งจะรายงานคุณภาพอากาศทั้งรายชั่วโมง รายวัน และข้อมูลย้อนหลังรายเดือนรายปี พร้อมทั้งการแจ้งเตือนว่าประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ควรจะปฏิบัติตนอย่างไรในการป้องกันผลกระทบของปัญหาหมอกควันต่อสุขภาพในขณะนั้น
  2. ในช่วงที่มีวิกฤติหมอกควัน มาตรการที่สำคัญที่สุดและเป็นที่ยอมรับว่าต้องทำเป็นอันดับแรกคือ ต้องให้ประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันมาก เช่น เด็กๆ คนแก่หรือผู้ป่วย อยู่ในบ้านที่ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศชนิด HEPA เป็นวิธีที่ดีที่สุดและต้องเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษก่อนเรื่องอื่น ส่วนการใช้หน้ากากกันฝุ่นเป็นมาตรการรองลงไปและสำคัญน้อยกว่ามาก หน้ากากกันฝุ่นจะใช้เมื่อมีความจำเป็นมากจริงๆที่จะต้องออกนอกบ้านเท่านั้น และต้องเน้นให้ใช้ระยะเวลาสั้นที่สุด เสร็จธุระแล้วต้องรีบกลับเข้าบ้านทันที
  3. หากจำเป็นจริง ๆ ควรใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นควันขนาดเล็กมากได้ เช่น หน้ากากชนิด N95 หรือ FFP2 โดยต้องใส่ให้ขอบแนบสนิทกับโครงรูปหน้าเพื่อไม่ให้อากาศภายนอกรั่วเข้าไป
  4. ในกรณีที่ไม่สามารถหาหน้ากากชนิด N95ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคือถ้าเกิดวิกฤติหมอกควัน ควรพยายามหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีความเสี่ยงต่อผลกระทบจากฝุ่นควันหรือมีโรคประจำตัว แต่หากมีความจำเป็นต้องออกจากบ้านมากจริงๆ ควรใช้หน้ากากชนิด N95 มากกว่า ส่วนประชาชนทั่วไปหรือกรณีไม่สามารถหาหน้ากากชนิด N95 ได้จริงๆ การใช้หน้ากากอนามัยที่ใช้ในห้องผ่าตัด อาจจะใช้หน้ากากหลายชั้น หรือใส่ผ้าหรือกระดาษเสริม ก็ยังได้ประโยชน์มากกว่าไม่ใส่หน้ากากเลย และต้องเน้นให้ใช้ระยะเวลาที่อยู่นอกบ้านให้สั้นที่สุด เสร็จธุระแล้วต้องรีบกลับเข้าบ้านทันที
    อ้างอิงข้อมูลจาก : cmaqhi.org, th.wikipedia.org

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *