Business

พาณิชย์ เร่งผนวกชุมชนต้นแบบ Smart Village หนุนผู้ผลิตสินค้าท้องถิ่นก้าวสู่มืออาชีพ

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกรมทรัพย์สินทางปัญญา หารือถึงแนวทางการบูรณาการเพื่อช่วยกันผลักดันผู้ประกอบธุรกิจและสินค้าที่ได้รับเครื่องหมายสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้กลายไปเป็นผู้ประกอบธุรกิจมืออาชีพและสร้างชุมชนที่เข้มแข็งให้ยั่งยืน มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่มากขึ้นด้วยการใช้เทคโนโลยี

ซึ่งจะสอดรับกับโครงการ Smart Village Online ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันสินค้าชุมชนเข้าสู่โลกของการค้าออนไลน์ ปัจจุบันมีชุมชนต้นแบบ 5 แห่งแรกของประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จแล้ว คือ 1) ชุมชนนาข่า จังหวัดอุดรธานี ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมและผ้าพื้นเมือง 2) ชุมชนใบชาดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย ผลิตภัณฑ์ใบชา 3) ชุมชนด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา 4) ชุมชนบ้านวังส้มซ่า จังหวัดพิษณุโลก ผลิตภัณฑ์จากส้มซ่า และ 5) ชุมชนควนขนุน จังหวัดพัทลุง ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมกระจูด

รมช.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า ความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานในครั้งนี้ แบ่งเป็น 2 แนวทางคือ 1.การพัฒนาผู้ผลิตที่ได้รับเครื่องหมายการันตีสินค้า GI ให้ก้าวเข้ามาสู่โครงการ Smart Village Online ซี่งจะช่วยทำให้ผู้ผลิตเกิดการรวมตัวกันพัฒนาสินค้าชุมชนให้มีอัตลักษณ์โดดเด่น กลายเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ที่สำคัญจะก่อให้เกิดสร้างพลังและช่องทางการจำหน่ายสินค้าบนโลกออนไลน์มากขึ้น ผู้บริโภคจำนวนมากจากทุกสารทิศสามารถเข้าถึงสินค้า GI ได้อย่างง่ายดาย ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังแหล่งผลิต สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างผ่านอัตลักษณ์ของสินค้า และสามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวนำรายได้เข้าสู่ชุมชน รวมไปถึงโครงการฯ ยังมีความร่วมมือกับ Market Place ตลาดออนไลน์ชื่อดังระดับโลกอย่าง Lazada และตลาดออฟไลน์ขนาดใหญ่อย่าง King Power และเครือเซ็นทรัล ทำให้ผู้ผลิตสินค้ามีโอกาสที่จะเข้าสู่การทำตลาดในรูปแบบ Omni Channel ได้

2.การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า (Value Added) โดยการแตกสายการผลิตเพิ่มเติม จากเดิมที่จำหน่ายเฉพาะสินค้า GI ที่แสดงถึงความมีอัตลักษณ์ในท้องถิ่นเพียงด้านเดียว โครงการ Smart Village Online จะเข้าไปช่วยพัฒนารูปแบบการผลิตทั้งการให้ความรู้ในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแก่ผู้ผลิต สามารถสร้างสรรค์สินค้าให้สะท้อนถึงความเป็นชุมชนในหลากหลายมิติมากขึ้น ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคแต่ยังคงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นไว้ในสินค้า แม้ว่าสินค้าที่ผ่านการสร้างสรรค์ใหม่จากวัตถุดิบหลักที่มาจากสินค้า GI จะไม่ได้รับเครื่องหมายฯ ไปด้วยนั้น แต่วัตถุดิบที่มีคุณค่าจะช่วยการันตีถึงคุณภาพที่ดีเยี่ยมได้เป็นอย่างดี ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นและตัดสินใจจับจ่ายสินค้านั้นได้ไม่ยาก

 

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *