History

“เมืองหริภุญชัย”ศูนย์กลาง”อารยธรรมมอญ”

เมืองหริภุญชัย ในระยะแรกคงเป็นส่วนหนึ่งของรัฐทวารวดี ซึ่งมีเมืองละโว้เป็นศูนย์กลาง ภายหลังหริภุญชัยได้แยกตัวเป็นอิสระ และพัฒนาการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในภูมิภาคนี้ ต่อมาได้รับวัฒนธรรมจากแหล่งอื่นๆ มาผสมผสาน เช่น ศิลปะจากพุกาม ศิลปะอินเดียสมัยปัลลวะ จนสร้างเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น “มอญหริภุญชัย”

ตำนานจามเทวีวงศ์และสังคีติยวงศ์กล่าวถึงการสร้างเมืองหริภุญชัย และการอัญเชิญพระนางจามเทวีจากละโว้มาครองเมืองหริภุญชัย เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่ 14 มีขุนนางและผู้เชี่ยวชาญศิลปวิทยาการ เช่น พระภิกษุ นักปราชญ์ และช่างแขนงต่างๆ ได้ติดตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก

พระนางจามเทวีจึงเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จามเทวี เอกสารโบราณของจีนเรียกเมืองหริภุญชัยนี้ว่า “หนี่หวังก๊ก” ซึ่งหมายถึงอาณาจักรที่มีกษัตริย์เป็นผู้หญิง

ส่วนด้านใต้ของหริภุญชัยการตั้งถิ่นฐานขยายตัวตลอดลำน้ำปิงจนถึงเวียงฮอดซึ่งอยู่ใต้สุด ตั้งอยู่บนเส้นทางที่เชื่อมชุมทางการค้าระหว่างล้านนากับอยุธยา และยังสามารถตัดข้ามภูเขาไปยังเมืองหงสาวดีในเขตหัวเมืองมอญได้

หริภุญชัยมีความเจริญรุ่งเรืองบ้านเมืองมีความสงบปราศจากสงคราม มีการทำนุบำรุงศาสนา เช่น การสร้างวัด การกัลปนาผู้คนและที่ดินแก่วัด กษัตริย์ที่สำคัญในสมัยนี้คือ พญาอาทิตยราช ผู้ทรงสร้างพระธาตุหริภุญชัยเมื่อประมาณ พ.ศ.1700 และพญาสววาธิสิทธิ (สรรพสิทธิ์) พบหลักฐานศิลาจารึกภาษามอญจารึกพระราชกรณียกิจของพระองค์ในด้านศาสนา

ประชากรในเมืองหริภุญชัยประกอบด้วยชาติพันธุ์ผสมคือ ชาวเม็ง (มอญ) และลัวะ ซึ่งเป็นชาติพันธุ์เดิม ในภายหลังจึงปรากฏกลุ่มคนไทย ในยุคหริภุญชัย “เม็ง” เป็นชนชั้นปกครอง เป็นกลุ่มที่รับความเจริญมาจากมอญในแถบภาคกลาง นอกจากนี้ยังมีชาวละโว้ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นมอญที่มากับพระนางจามเทวี

เม็งและลัวะเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมในที่ราบลุ่มน้ำปิง ตำนานจามเทวีวงศ์เรียกชาติพันธุ์เม็งว่า เมงคบุตร ศรีศักร วัลลิโภดม วิเคราะห์ว่า กลุ่มเมงคบุตร เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่เจริญเป็นพวกแรกในแถบที่ราบเชียงใหม่ มีลักษณะสังคมชนเผ่า แบ่งออกเป็นหลายตระกูลแต่ละตระกูลใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ของตน ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาติพันธุ์เม็ง มักกระจายตัวอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง จึงพบคำเก่าแก่ในภาษาเม็งเรียกแม่น้ำปิงว่า “แม่ระมิง” (มาจากคำว่า รเมญ ในภาษามอญโบราณ และกร่อนมาเหลือ เมญ หรือ เม็ง ในภาษาล้านนา) หรือแม่น้ำเม็ง หมายถึงแม่น้ำที่ชาวเม็งอาศัยอยู่

ความเจริญด้านต่างๆ จากหริภุญชัยได้แพร่หลายไปสู่เมืองที่เกิดขึ้นในระยะต่อมาเช่นล้านนา กล่าวคือ ตัวอักษรธรรมล้านนามีที่มาจากอักษรมอญหรือหริภุญชัย ด้านศิลปกรรมก็ยอมรับศิลปะหริภุญชัยอย่างเด่นชัด เช่นรูปทรงเจดีย์ แม้แต่กฎหมาย “มังรายศาสตร์” อาจจะได้รับอิทธิพลมาจากกฏหมายของมอญที่หริภุญชัย

ต่อมา พ.ศ. 1824 พญามังรายมหาราชผู้สถาปนาอาณาจักรล้านนา ได้ยกกองทัพเข้ายึดเอาเมืองหริภุญชัยจากพญายีบาได้ ต่อจากนั้นอาณาจักรหริภุญชัยจึงสิ้นสุดลง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *